รีวิวการเดินทางท่องเที่ยวประเทศศรีลังกา เที่ยวศรีลังกาด้วยตัวเอง ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวศรีลังกา

รีวิวการเดินทางท่องเที่ยวประเทศศรีลังกา  เที่ยวศรีลังกาด้วยตัวเอง ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวศรีลังกา
Sri Lanka Trip Review รีวิวทริป เที่ยวประเทศ ศรีลังกา

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เตรียมตัวก่อนเดินทางไปเที่ยวประเทศศรีลังกา ครับผม

สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาอ่านบล็อกของหลวงไข่อีกครั้งนะครับ คราวนี้หลวงไข่พาเที่ยวประเทศศรีลังกาครับ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่อยากไปมานานแล้วเพราะอยากไปทำบุญไหว้พระ พอรู้ว่าแอร์เอเชียเปิดเที่ยวบินไปกลับกรุงเทพฯ-โคลอมโบก็รีบจองตั้งแต่ต้นปี 2555 แต่จองทริปไปตอนเกือบปลายปีคือเดินทางไปวันที่ 10 ตลาคม 2555 และกลับวันที่ 17 ตุลาคม 2555 แต่ก่อนเดินทาง 2 อาทิตย์ผมก็ได้รับข้อความจากแอร์เอเชียเข้ามาทางมือถือว่าเที่ยวบินขากลับวันที่ 17 ตุลาคมจากโคลอมโบกลับกรุงเทพฯถูกยกเลิก เพราะเป็นเรื่องของต้นทุนผู้โดยสารไม่เยอะ เขายกเลิกเที่ยวบินแล้ว วันที่ 10 ตุลาคม 2555 จะเป็นวันสุดท้ายที่แอร์เอเชียบินไปกลับกรุงเทพฯ-โคลอมโบครับ ดังนั้นขากลับ วันที่ 17 ตุลาคม 2555 แอร์เอเชียทำการ Reroute ตั๋วให้ผมขากลับจากโคลอมโบเข้ากัวลาลัมเปอร์ก่อน และ จากกัวลาลัมเปอร์เข้ากรุงเทพฯครับ ทริปนี้ตอนแรกจองไว้ 6 คนแต่สุดท้ายเหลือแค่ 4 คนเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจครับ รวมทั้งหลวงไข่ด้วย แต่พอมีอยู่บ้างก็เลยได้ไปครับ อิๆๆๆ


มาเริ่มกันเลยนะครับ ทริปนี้การเตรียมตัวก็หาตั๋วก่อนนะครับ เพราะหลังจากนี้แอร์เอเชียเลิกบินจากดอนเมืองไปโคลอมโบแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครจะไปศรีลังกากับแอร์เอเชียก็ต้องเดินทางเข้ากัวลาลัมเปอร์ก่อนครับ 

จากภาพที่ผมแคปเจอร์มานะครับจะเห็นว่าถ้าเราบินจากกัวลาลัมเปอร์ไปศรีลังกา เที่ยวบินจะเป็น 11 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นที่กัวลาลัมเปอร์ (เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) เพราะฉะนั้นจากกรุงเทพฯ เราไม่สามารถบินเที่ยวบินแรกจากประเทศไทยไปได้ เพราะเที่ยวแรกจากกรุงเทพฯไปกัวลาลัมเปอร์ จะเป็นเวลา  7:05 น. และถึงกัวลาลัมเปอร์ 10:15 น. ยังไงก็ไม่ทัน 11:00 น.ครับ เพราะกว่าจะผ่าน ตม. เข้า และตม.ออก ใช้เวลาอีกเกือบชั่วโมง ฉะนั้นต่อไปถ้าจะไปศรีลังกาก็ต้องนอนกัวลาลัมเปอร์ก่อน 1 คืนก่อนครับ แต่เที่ยวกลับไม่มีปัญหาครับสามารถจองโคลอมโบ-กัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯเลยครับ 

และจะบอกว่าตอนนี้จะเข้าศรีลังกาก็ต้องขอวีซ่าครับ (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ครับต้องขอวีซ่าเข้าประเทศศรีลังกา)  สามารถขอและกรอกข้อมูลและจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตได้คนละ 20 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาครับ แต่ถ้าไปขอวีซ่าแบบ On Arrival ก็ได้นะครับที่สนามบินโคลอมโบ แต่ค่าวีซ่าจะเป็นคนละ 25 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกานะครับ ซึ่งถ้าเราจะทำการขอวีซ่าผ่านเว็ปไซต์ก็ให้เข้าไปที่ https://eta.gov.lk/etaslvisa/etaNavServ?payType=1


เข้ามาแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างนี้ ก็ให้เลือกที่เมนู Apply อันที่ 2 ของเมนูด้านบนนะครับ


เข้ามาแล้วก็คลิกเลือก I Agree นะครับ แล้วก็เลือก 


หลังจากนั้นหน้าต่างนี้ก็ปรากฎขึ้นมา ให้เลือกอันบนสุดครับคือ Tourist ETA แล้วก็จะเลือกแบบบุคคลเดี่ยว (Apply for an Individual) หรือ ถ้าไปหลายคนก็เลือกกรอกข้อมูลแบบกรุ๊ปครับ (Apply for a Group) แต่ต้องระวังตอนที่กรอกข้อมูลเสร็จแล้วจะมีการให้ Verify ภาพแล้วให้ใส่ตัวเลขตัวอักษร ห้ามใส่ผิดเด็ดขาดครับ (รูปภาพดูค่อนข้างยาก) มิฉะนั้นมันจะ Error ครับ และข้อมูลที่เราตั้งหน้าตั้งตากรอกมาก่อนหน้านี้จะหายไปทั้งหมดครับ ผมโดนมาแล้ว เหงื่อตกครับ เลยแก้ปัญหาด้วยการกรอกข้อมูลแบบรายบุคคลแทนครับ เพราะถ้า Error จะได้ไม่หงุดหงิดเสียอารมณ์เท่ากับการกรอกข้อมูลเยอะๆแบบกรุ๊ป ยังไงก็สู้ๆนะครับ ถ้าจ่ายตังค์ผ่านแล้วเราก็จะได้ลิงค์มาให้ปริ๊นท์วีซ่า และส่งคอนเฟิร์มมาให้เราทางเมล์ด้วยครับ ซึ่งวีซ่าที่ได้ หน้าตาจะเป็นแบบนี้นะครับ 


ส่วนเรื่องอื่นก็หลังจากที่หลวงไข่ไปศรีลังกามาแล้วขอบอกเลยนะครับว่าควรเอาสิ่งเหล่านี้ไปกับคุณด้วยเป็นอย่างยิ่ง

1.ช้อนกินข้าวครับ เอาหางสั้นไปก็พอครับ ไม่ต้องเอาส้อมไปเดี๋ยวเขาไม่ให้ผ่านตอนเอากระเป๋าผานเครื่องเอ็กซ์เรย์ที่สนามบินเพราะเป็นอาวุธได้ ที่ให้เอาช้อนไปเพราะทุกอย่างที่ศรีลังกาใช้มือเปิบครับ ซื้อข้าวใส่ห่อมาก็ต้องเปิบครับ ยกเว้นที่โรงแรมจะมีช้อนให้ 

2.ร่มหรือเสื้อกันฝนครับ เอาคันเล็กๆไปก็ได้ครับ ได้ใช้แน่นอน ฝนตกค่อนข้างบ่อย แต่บางวันก็ตกนิดหน่อย เผื่อๆไว้ครับ (วันที่ผมไปสิกิริยา แดดร้อนมาก พอตอนเย็นฝนลงหนักมาก) เพราะฉะนั้นก็เอาหมวกกันแดดไปด้วยครับถ้าไม่อยากกางร่มหลบแดด ที่โพลอนนารูวาก็ร้อนมากๆครับตอนเข้าชมสถานที่

3.ตามแหล่งท่องเที่ยวบางที่ เช่นในวัดพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองอนุราธปุระจะมีคนศรีลังกาชอบขอตังค์คนไทยนะครับ  บอกว่าขอเอาไว้เป็นที่ระลึก หรือบางทีก็ขอ 100 บาทบอกต้องเลี้ยงลูกหลายคน ให้เยอะๆก็เสียดายครับ แลกแบงค์ 20 ไปเยอะๆเลยครับ หรือเอาไว้ให้ทิปพนักงานโรงแรมก็ได้ครับ บอกว่าไม่เหลือเงินศรีลังกาแล้ว เหลือแต่เงินไทย เขาก็ต้องจำใจยอมรับครับ (แผนสูง อิๆๆ) แต่บางทีผมก็โดนขอปากกา ก็เตรียมอันถูกๆก็ได้ครับ จะได้ผูกมิตรกับเขา คนศรีลังกาน่ารักนะครับ จริงๆ อันนี้ หลวงไข่คอนเฟิร์มครับ 

4.สเปรย์กันยุงนะครับ หรือแบบครีมทาก็ได้ แต่ผมไม่มีปัญหากับยุงเลย แต่คุณพี่สุรชัยกับพี่ทิพย์ที่ไปด้วยกัน ประสบปัญหากับยุงเยอะมากครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

5.ถ้าใครติดกาแฟก็ควรเตรียมกาแฟไปด้วยครับ เพราะหากินยาก มีแต่ชา กาแฟที่โรงแรมก็ไม่อร่อยครับ ใส่อะไรปนมาก็ไม่รู้ กลิ่นแปลกๆครับ 

6. มาม่าคัพ ครับ เตรียมไปกรณีที่คุณกินอะไรไม่ได้เลย คุณจะได้เอาไว้ประทังชีวิต หรือหมูหยอง (เอาไปกินกับข้าวแบบศรีลังกาที่เป็นห่อๆ เข้ากั๊นเข้ากัน)

7.น้ำพริกก็ดีนะครับ เอาแบบแห้งๆไปก็ได้ เผื่อกินอะไรไม่ได้เลย 

8.หนังสือนำเที่ยวศรีลังกาผมว่าหาที่เป็นภาษาไทยยากมาก มีรู้จักอยู่เล่มเดียวที่เป็นข้อมูลให้ผมได้ และข้อมูลของสถานที่ทุกอย่างในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดครับ แต่ไม่ได้บอกวิธีการเดินทางไปชมแต่ละสถานที่นะครับ เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ก็ซื้อเล่มนี้มาอ่าน



ของดีศรีลังกาของลังกากุมารครับ เล่มละ 300 บาทซื้อได้ที่ร้าน Se-Ed ครับ แต่ถ้าวิธีเดินทางต้องอ่านบล็อกของผมนะครับ อิๆๆๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็แล้วแต่บุคคลนะครับ ส่วนหลวงไข่ ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนักกับอาหารศรีลังกาก็เลยทานได้ แต่ตอนแรกก็กล้าๆกลัวๆเหมือนกันครับ เพราะเน้นเครื่องเทศซะส่วนใหญ่ ตอนหลังกินไปกินมาก็อร่อยดีเหมือนกันครับ ทำใจรับได้เองโดยอัตโนมัติครับ 

ได้ตั๋วเครื่องบิน ได้วีซ่าแล้วก็มาถึงขั้นจองโรงแรมแล้วครับ เพราะไม่อยากจะไป walk-in หาโรงแรมให้ลำบาก หรือโดนพวกตุ๊กๆ มันพาไปฟันหลอกเอาค่าคอมมิชชั่นให้เสียอารมณ์เล่น หลวงไข่ก็เลยจองห้องไว้ทั้งหมดแล้วครับ กับอโกด้า ซึ่งก่อนไปก็วางแผนไว้หมดแล้วครับว่าแต่ละที่จะอยู่กี่คืน ซึ่งทุกท่านสามารถเลียนแบบได้เลยครับ ไม่มีอะไรยากแน่นอนครับ (ใครอยากทำบัตรเครดิตติดต่อผมมานะครับ ไว้ใช้จ่ายแบบออนไลน์หรือ จองโรงแรม จะได้สะดวกๆ นะครับ ไม่ต้องยืมบัตรเครดิตคนอื่น อิๆ)

ที่ผมจองไว้มีดังนี้ครับ 
วันที่ 10 ตุลาคม เดินทางจากโคลอมโบไปอนุราธปุระโดยรถไฟ พักที่ Panorama Rest Hotel ครับ 
วันที่ 11 ตุลาคม เที่ยวเมืองอนุราธปุระ และ เมือง มิหินตะเล พักที่ Panorama Rest Hotel อีก 1 คืนครับ
วันที่ 12 ตุลาคม เดินทางจากอนุราธปุระไปเมืองโพลอนนารูวาด้วยรถบัส พักที่ Rock Cascade Home Stay  ที่นี่ผมประทับใจมากครับ เพราะว่าเจ้าของชื่อคุณนิชานติ น่ารักมากครับ Strong Recommend ครับที่นี่
วันที่ 13 ตุลาคม เดินทางจากโพลอนนารูวาไปสิกิริยา พักที่ Sigiriya View Resort ครับ โรงแรมออกแบบคล้ายๆอยู่ในป่า สวยดีครับ มองเห็นพระราชวังลอยฟ้าจากโรงแรมเลยครับ 
วันที่ 14 ตุลาคม เดินทางจากสิกิริยา เที่ยว วัดดัมบุลล่า และเดินทางเข้าเมืองแคนดี้ด้วยรถบัส ดูระบำแคนดี้ พักที่ Settle Inn Tourist Lodge ครับ ห้องสะอาดมากสวยมากชอบห้องที่นี่มากที่สุดครับ
วันที่ 15 ตุลาคม ชมวัดพระเขี้ยวแก้ว ช็อปปิ้งเมืองแคนดี้ครับ พัก Settle Inn Tourist Lodge อีก 1 คืนครับ
วันที่ 16 ตุลาคม เดินทางจากเมืองแคนดี้ เข้า โคลอมโบด้วยรถไฟ เที่ยววัดคงคาราม เดินทางต่อด้วยรถบัสไปพักที่เนกอมโบครับ เพราะอยู่ใกล้สนามบินมากกว่า (สนามบินศรีลังกาอยู่ในเมืองเนกอมโบนะครับ ไม่ใช่โคลอมโบ) คืนนี้พักที่ Ceylonica Beach Hotel ครับ
วันที่ 17 ตุลาคม เดินทางจากโคลอมโบ - กัวลาลัมเปอร์ - กรุงเทพฯ เป็นอันจบทริปครับ

ขอบอกนิดหนึ่งนะครับ ว่าโรงแรมที่ผมจองข้างบนนี้มี Wifi ฟรีทุกโรงแรมครับ เพราะผมต้องทำงานเลยเลือกโรงแรมพวกนี้ แต่ทุกโรงแรมราคาถูกมากถึงมากที่สุดแล้วครับ เพราะต้องการประหยัดเงินครับ อิๆๆ ขอใ้ห้เที่ยวให้สนุกนะครับ ใครอยากถามข้อมูลเพิ่มเติม แอดผมมาในเฟซบุ๊คนะครับ http://www.facebook.com/akeadi  ขอให้ทุกท่านสนุกกับการเดินทางนะครับ Line ID : luangkhai2 ครับ


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




วันที่ 1 เดินทางจากกรุงเทพฯ - โคลอมโบ - อนุราธปุระ

เริ่มทริปกันเลยนะครับ พวกเรา 4 ชีวิต (ผมเอง คือหลวงไข่, ลุงเสริม, พี่สุรชัย และพี่ทิพย์ ครับ) เดินทางจากสนามบินดอนเมืองด้วยเครื่องแอร์เอเชีย เพื่อเดินทางไปยังกรุงโคลอมโบ ซึ่งอย่างที่บอกครับ ว่าวันที่ 10 ตุลาคม 2555 เป็นวันสุดท้ายที่เที่ยวบินนี้จะบินจากกรุงเทพฯไปยังโคลอมโบ (หลังจากนี้จะต้องบินไปกัวลาลัมเปอร์ก่อนนะครับ) ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงศรีลังกาครับ โดยที่เวลาที่ศรีลังกาจะช้ากว่าบ้านเรา 1 ชั่วโมง 30 นาทีครับ เที่ยวบินออก 7 โมงเช้าจากกรุงเทพฯ ถึงศรีลังกา ตอน 9 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่นที่ศรีลังกาครับ 

บรรยากาศรัยฃนเวย์ของสนามบิน บันดาราไนยเก หรือ Bandaranaike International Airport หรือ อีกชื่อเรียกว่าสนามบิน Katunayake International Airport หรือ Colombo International airport) ตั้งอยู่ทางทางด้านเหนือของกรุงโคลอมโบ 35 กิโลเมตร (สนามบินอยู่ที่เมือง เนกอมโบนะครับ ไม่ใช่ที่โคลอมโบ)


หลังจากนั้นก็เดินเข้ามาข้างในอาคารขาเข้าหรือ Arrival Terminal ก็จะเป็นทางเดินแบบนี้ครับ


ตรงสุดทางเดินจะเจอพระพุทธรูปปางแสดงธรรม องค์นี้สวยงามมากๆครับ หลังจากผ่านพระพุทธรูปนี้ก็เดินเลี้ยวซ้ายออกไปจะเจอกับด่าน ตม. ตรวจคนเข้าเมืองของศรีลังกาครับ


อีกมุมหนึ่งจะเป็นมุม Visa On Arrival ครับ คือถ้าเรายังไม่ขอวีซ่าออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ เราก็สามารถมาขอตรงนี้ได้ครับ แต่ค่าวีซ่าแบบ On arrival นี้จะเป็น 25 Us Dollar ครับ (ถ้าทางเว็ป แค่ 20 US Dollar ครับ) 




หลังจากนั้นก็เดินออกมาข้างนอกสนามบิน เจอที่แลกเงินครับ แลกเงินไทยที่สนามบินก็ได้นะครับ เรท 1 บาท ได้ 3รูปีกว่าๆเกือบ 4 รูปีโดยประมาณนะครับ ส่วนพวกผมแลกเงินดอลลาร์ไปจากประเทศไทยไปแล้วเพราะนึกว่าเงินไทยแลกไม่ได้ที่ศรีลังกา ก็จัดการแลกเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ 300 US Dollar กับลุงเสริมสองคน เรท อยู่ที่ประมาณ 1 US Dollar ได้ 126.26 รูปี ครับ รวมได้37,878 รูปี ครับผม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมว่าสะดวกสุดก็แลกดอลลาร์ไว้ดีกว่าครับ เพราะบางที่ก็ไม่รับแลกเงินไทยเหมือนกันครับ ส่วนผมอาศัยกด เอทีเอ็มเอาทีหลังครับ ของผมบัตรเอทีเอ็มธนาคารทหารไทยกดได้ตลอดครับ (ไม่ได้โฆษณานะครับ ไม่ได้ทำงานธนาคารด้วย) ไม่ได้มีปัญหาเหมือเอทีเอ็มของพี่สุรชัย (ไม่บอกดีกว่าว่าธนาคารอะไร ใครอยากรู้หลังไมค์ครับ อิๆๆ) ตู้เอทีเอ็ม ศรีลังกา กดได้ครั้งละสูงสุด 20,000 รูปีครับ โดยที่เราจะโดนชาร์จค่าธรรมเนี่ยม ประมาณ 150 บาท ต่อครั้งที่กดครับ (เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะกดเงินต่างประเทศ ต้องเผื่อใจไว้ด้วยนะครับว่าโดนชาร์จแน่นอนครับ)

แลกเงินเสร็จก็ออกมานอกสนามบินครับ เคยอ่านในบล็อกอื่นๆ เขาบอกว่าให้ออกมาทางซ้ายสุดจะเจอรถบัสฟรีของสนามบินไปส่งที่ท่ารถ แล้วสามารถต่อรถบัสเข้าโคลัมโบได้ แต่ผมหาไม่เจอครับ อีกอย่าง พอออกมาข้างนอกคนเยอะมากๆครับ อากาศก็ร้อนด้วยสงสารลุงเสริม ก็เลยตัดสินใจเรีกแท็กซี่เลยครับ เขาตกลงราคา 30  US dollar สำหรับนั่งจากสนามบินไปสถานีรถไฟ Colombo Fort ใจกลางกรุงโคลอมโบครับสำหรับ 4 คน แต่พวกเราแลกเงินมาเป็นรูปีเกือบหมดแล้วก็เลยต้องจ่ายเป็นเงินรูปีครับ เขาคิดเรท 130 รูปี ต่อ 1 US dollar ครับ เลยต้องจ่ายเขาไป 3900 รูปีครับ


ระหว่างทางเจอกับมะพร้าวลูกสีส้มๆ นี้ระหว่างทาง  พี่โชเฟอร์ใจดีเห็นว่าเราสนใจก็เลยจอดให้ เขาเรียกว่า King Coconut ครับ ลูกละ 35 รูปี ครับ แต่น้ำจะออกเปรี้ยวๆ ไม่ได้อร่อยเหมือนน้ำพระพร้าวบ้านเราครับ น้ำมะพร้าวบ้านเราอร่อยกว่าเยอะครับ (ตามความรู้สึกผมนะ)


นั่งมาประมาณ ชั่วโมงหนึ่งพอดี รถติดมากในกรุงโคลอมโบ เราก็มาถึงสถานีรถไฟโคลอมโบ ฟอร์ท (Colombo Fort) ก็ประมาณหัวลำโพงบ้านเราครับ แต่ที่นี่เล็กกว่าบ้านเราเยอะครับ) 



อยากจะบอกว่าก่อนมาที่ศรีลังกาผมก็ได้ศึกษาเวลาของรถไฟไว้แล้วในเว็ปของการรถไฟของประเทศศรีลังกานะครับที่ http://www.gic.gov.lk/gic/index.php?option=com_findnearest&task=train ซึ่งเราสามารถป้อนชื่อสถานีต้นทาง (Colombo Fort) และ สถานีปลายทาง (Anuradhapura Town) และใส่ช่วงเวลา 00:00 - 24:00 และใส่วันที่ ที่เราจะเดินทาง มันก็จะแสดงเที่ยว และเวลารถไฟ ของวันนั้นๆ ให้เราเลยครับ ข้อมูลถูกทุกอย่าง ลองดูนะครับ  อย่างตารางข้างบนที่ได้มา ก็จะเป็นเวลาที่ผมเดินทางได้คือเที่ยว 13:45 นาฬิกา จากโคลอมโบ ฟอร์ท ถึง อนุราธปุระ เวลา 18:34 นาฬิกา (แต่วันที่ผมเดินทาง 10 ตุลาคม 2555 ถึงอนุราธปุระตอนทุ่มครึ่งแน่ะ เลทไป 1 ชั่วโมงครับ)


ตรงนี้เป็นช่องขายตั๋วก่อนทางเข้าสถานีครับ ไปอนุราธปุระราคาตั๋วชั้น 2 290 รูปีครับ ขอแนะนำชั้น 2 อย่านั่งชั้น 3 ครับ คนแน่นมาก ส่วนชั้น 1 เขาบอกว่าขบวนนี้ไม่มีชั้น 1 ครับ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่มี

นี่คือหน้าตาของตั๋วรถไฟที่เราซื้อมาแล้วนะครับ เป็นตั๋วกระดาษแข็งใบเล็กๆเหมือนบ้านเราเมื่อก่อนเลยครับ

หน้าตาของตั๋วที่ผมเอามาสแกนแล้วนะครับ เป็นแบบนี้ ครับ มีชื่อสถานีปลายทาง และราคาตั๋วครับ นอกนั้นเป็นภาษาบ้านเขาครับ อ่านไม่ออกอิๆๆ


เข้ามาภายในสถานีก็มีแบ่งทางเข้า ทางออกชัดเจนนะครับ ถ่ายรูปให้ลุงเสริม 1 รูปครับ 


อันนี้เป็นรูปถายในสถานีโคลอมโบ ฟอร์ทนะครับ เห็นชานชลาหลายช่องมากๆ ถ้าปวดฉี่ก็มีห้องน้ำอยู่ในสถานีนี้ครับ ค่าเข้าห้องน้ำ 10 รูปีครับ 


เหลือเวลาอีกหลายชั่วโมงก่อน 13:45 น. ก็ให้ลุงเสริมเฝ้ากระเป๋า พวกเราเดินออกมาหาของกินข้างนอก เดินเลี้ยวขวาออกจากสถานีก็เจอร้านอาหาร แต่ดูๆแล้ว เรากินไม่ได้แน่ ไปแผงขายผลไม้ เห็นจัดเรียงไว้สวยดี ก็ซื้อไว้เป็นเสบียงในรถไฟด้วยครับ 


ข้ามถนนออกมาฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟ ไปเจอร้านข้าว และอาหารของศรีลังกาครับ ส่วนใหญ่เป้นแป้ง ทอด มีไส้ใส่เครื่องแกงที่มีกลิ่นเครื่องเทศอยู่ครับ แบบทอดๆนี้ผมรับได้ครับ ซื้อมากิน 2-3 อัน ก็พอกินได้ครับ แต่ไม่ถึงกับชอบ


มีข้าวผัดด้วยครับ อันนี้เป็นข้าวผัด ไม่มีเครื่องเทศครับ แต่ละมีให้เลือกว่าจะราดแกงอะไร


ทำท่าจะตัดสินใจว่าจะราดแกงแบบเขาก็พลันเหลือบไปเห็นข้าวผัดใส่ไก่ทอดแบบนี้ครับ สวรรค์โปรด รอดตายแล้วมื้อนี้ ก็จัดการสั่งใส่ห่อมาคนละกล่อง กล่องละ 250 รูปี (ประมาณ 60 กว่าบาท)


หน้าร้านอาหารมีแผงขายล็อตเตอรี่ด้วยครับ ที่ศรีลังกาล็อตเตอรี่เขาออกรายวันเลยครับ แต่ใบหนึ่งราคาแค่ 20 รูปีครับ (ประมาณ 5 บาท) ไม่มีขายเกินราคาเหมือนบางประเทศครับ


ซื้อของเสร็จก็เดินกลับไปสถานีรถไฟครับ


ก็ยังเหลือเวลาอีกหลายชั่วโมง กำลังคิดว่าจะกินในรถไฟหรือกินที่สถานีดี



สุดท้ายแกะกินที่สถานีเลยครับ คิดว่าเผื่อไม่ได้นั่งจะกินข้าวไม่ได้เพราะคนแน่นแน่ๆ ข้าวที่ผมซื้อมาจากร้านเมื่อกี้เป็นข้าวสวยธรรมดาครับ แต่เม็ดข้าวจะออกเค็มๆหน่อย ไม่รู้ว่าเขาหุงข้าวใส่น้ำเกลือด้วยหรือเปล่า เม็ดข้าวก็สั้นๆอวบๆ ไม่เหมือนบ้านเราครับ ช้อนที่เราเอาไปก็ได้ใช้ประโยชน์ตอนนี้แหละครับ ไม่งั้นก็คงต้องเปิบ เพราะเขาไม่ใช้ช้อนกินข้าวกันที่นี่ ระหว่างที่กินข้าวอยู่ นกกาจำนวนมากก็บินมาก่อกวนพวกเรา ต้องโยนข้าวไปให้พวกมันกินไกลๆเรา นกกาเยอะมากๆๆ จริงๆครับ


กินข้าวเสร็จมีพลเมืองศรีลังกาคนหนึ่งเข้ามาคุย ภาษามือ และภาษาเขียน ถามว่าเราไปไหน เราบอกว่าไปอนุราธปุระ แกเลยบอกว่าที่เรารอชานชลาที่ 4 น่ะถูกแล้ว (เพราะเราถามมาแล้วตอนซื้อตั๋ว) แต่แกบอกว่าให้เราไปยืนรอแถวๆ บันไดในภาพข้างบนนี้นะครับ เพราะชั้น 2 ของขบวนรถจะอยู่บริเวณนั้น 


พอใกล้เวลา 13:45 น. ผู้ชายคนเดิมก็บอกให้ผมเดินมารอตรงบันไดเลยครับ พวกเราก็ออกมารอกัน แต่ก็คิดว่าอีตาคนนี้ต้องขอตังค์ค่าบริการจากเราแน่ๆ แต่ก็ไม่ว่าอะไรครับเพราะแกบอกว่าคนแน่นมากๆๆ เดี๋ยวไม่มีที่นั่ง 


เป็นอย่างที่ผู้ชายคนนั้นบอกจริงๆครับ พอรถไฟมา คนศรีลังกาก็กรูกันแย่งขึ้นรถ เบียดกันสุดๆ ไม่มีความเกรงใจกันเลยสักนิด ขนาดพวกผมอยู่หน้า เขาก็มาแซก เบียดเข้าไปในขบวนรถได้ที่นั่งก่อนเรา ส่วนผู้ชายคนนั้นก็ไปแย่งที่ให้เรามาได้  ที่ครับ เลยให้ลุงเสริมนั่งไป ส่วน 3 คนที่เหลือคือหลวงไข่ พี่สุรชัย และพี่ทิพย์ก็ตั้องยืนตามระเบียบครับ ผมอยากจะให้ค่าตอบแทนผู้ชายคนนั้น 200 รูปี สำหรับการไปแย่งชิงเก้าอี้ให้พ่อผมนั่ง แต่ผิดคาดครับ แกบอกว่าไม่เป็นไรครับ ไม่เอาครับ ก็เลยสงสัยว่าแกคงเป็นเจ้าหน้าที่ในสถาน ที่คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวครับ แต่แกแต่งชุดธรรมดามากๆครับ ก็ยังงงอยู่ทุกวันนี้ว่าผู้ชายคนนั้นเป็นใครถึงได้มาช่วยเหลือพวกเราครับ


สภาพภายในขบวนรถไฟชั้น 2 ของศรีลังกา (ชั้น 3 บ้านเรายังดีกว่าอีก) คนแน่นมากๆ สักพักก็มีคนมาเดินขายของกันจ้าละหวั่น ส่งเสียงโฆษณาสินค้าตัวเองอย่างเซ็งแซ่ ไม่ขาดสาย แม่ว่ารถไฟจะออกจากสถานีแล้ว พวกเขาก็โดยสารไปกับขบวนรถ และขายของไปด้วย


รถออกเขตนอกเมืองก็จะกลายเป็นทุ่งนา ป่าเขา ต้นมะพร้าวสลับกันไป เหมือนบรรยากาศบ้านเราเด๊ะ 


เอาขนมที่ซื้อมาจากร้านตรงข้ามสถานีรถไฟออกมากิน เพราะเบื่อ ไม่รู้จะทำอะไร 


รถไฟก็จอดไปตามสถานีเรื่อยๆ ครับ ป้ายทุกอย่างที่ศรีลังกา จะมีภาษาสิงหล ภาษาทมิฬ และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ ครับ  นยืนไปสองชั่วโมงกว่าๆ พวกผมก็ได้นั่งครับ 


พี่สุรชัยได้ลูกสองคนจากในขบวนนี้ครับ สงสัยอยากพาไปอยู่ด้วย อิๆ คนศรีลังกาเป็นมิตรมากครับ น่ารักมาก ขอถ่ายรูปก็จะถ่ายแบบไม่ขี้อายเลยครับ


เวลา 19:30 น. โดยประมาณ พวกเราก็มาถึงสถานีอนุราธปุระ ครับ ในบรรยากาศแบบฝนตกหน่อยๆ


เดินออกมาตรงทางออก เดินตามชาวบ้านไปก็จะเจอรถตุ๊กๆ รออยู่เพียบเลยครับ 


ผมโชว์ Voucher โรงแรม Panorama Rest Hotel ที่จองไว้กับอโกด้า มาให้คนขับรถตุ๊กๆ คนนี้ดู แกคิดราคาคันละ 200 รูปีครับ (ประมาณ 50 บาท) ที่ศรีลังกาเขาห้ามผู้โดยสารมากกว่า 3 คนต่อ 1 คันครับ และห้ามขับรถเร็วด้วยครับ เขาเลยขับกันช้ามากๆ


ถึงโรงแรม พาโนรามา เรสท์ โฮเต็ล ก็จัดการเช็คอินครับ ห้องสวยมาก มีเตียงให้ตั้ง 2 เตียงแน่ะ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ นอนสบายมากๆ


แต่ปลั๊กที่นี่ รูจะเป็นแบบนี้ และก็จะมีแบบที่ใช้อแดปเตอร์ที่ผมเตรียมไปจากประเทศไทยได้ (ซื้อได้ตามร้าน 7Eleven ทั่วไปครับ) แต่ถ้าที่ไหนมีรูแบบนี้แบบเดียวต้องขอยืม อแดปเตอร์จากรีเซ็ปชั่นนะครับ แต่เผอิญว่า ในห้องของโรงแรมนี้มีอีกรูที่ผมสามารถใช้อแดปเตอร์ที่เตรียมไปจากบ้านเราได้ครับ



สักพักก็อยากจะอัพสเตตัสขึ้นเฟซบุ๊คซะหน่อย ก็ไปขอ Usernam Password จากรีเซ็ปชั่นมา เขาก็ให้ตัวนี้มาเป็น Wifi ของบริษัท Dialog แล้วก็ต้องขูดเอารหัสมาใส่ในเครื่องครับ


แต่ใบหนึ่งใช้ได้แค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้นครับ คืนนี้หลับฝันดีครับ 

อ่านบทความถัดไป วันที่ 2 เที่ยวชมสถานที่ต่างๆในเมืองอนุราธปุระและเมืองมิหินตะเล

วันที่ 2 เที่ยวสถานที่ต่างๆในเมืองอนุราธปุระ และเมืองมิหินตะเล

สวัสดีครับ วันนนี้เป็นวันพฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สองของการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศศรีลังกานะครับ  เมื่อคืนยังไม่ได้ถ่ายรูด้านหน้าโรงแรมให้ดูครับ เลยเอามาให้ดูนิดหนึ่งก่อน

ภาพนี้ถ่ายตรงด้านหน้า โรงแรม Panorama Rest Hotel นะครับข้างบนเป็นบาร์ครับ ข้างล่างคือ ล็อบบี้และรีเซ็ปชั่นครับ 


ส่วนอันนี้เป็นด้านข้าง บริเวณด้านขวามือเมื่อเดินเข้ามาโรงแรมครับ มันคือห้องอาหารของโรงแรมครับ สามารถสั่งข้าวผัดไก้กินได้ทุกคืนเลยครับ ขอบอกว่าข้าวผัดไก่โรงแรมนี้อร่อยที่สุดในทุกๆที่ในศรีลังกาที่พวกผมไปพักนะครับ ตอนแรกพวกผมอยากเช่ามอเตอร์ไซต์เที่ยวเองแต่โรงแรมบอกว่ามีแต่จักรยาน และมันก็ไม่สะดวกถ้าเราต้องไปไกลๆ เราเลยตัดสินใจว่าจะให้ทัวร์พาไป เลยให้โรงแรมเรียกบริษัททัวร์มาคุยให้ (คงได้ค่าคอมฯ จากพวกเราไปเยอะครับ อิๆ) สักพักบริษัททัวร์ก็เข้ามาคุยกับผม ตกลงราคากันที่ 12,000 รูปี (3000 บาท)  สำหรับทริปเต็มวันไม่รวมอาหารเที่ยง สำหรับ 4 คน แต่รวมค่าเข้าชมสถานที่ให้แล้ว คนละ 25  US dollar สำหรับบางที่ที่เก็บค่าเข้า ส่วนวัดอิสิรุมุนียาไม่รวมให้ครับต้องจ่ายเองคนละ 200 รูปี (50 บาท)  ***อ้อ!!ลืมบอกไปครับว่า Round Ticket ที่เมื่อก่อนราคา 50 Us Dollar นั้นที่สามารถใช้ชมอนุราธปุระ โพลอนนารูวา สิกิริยา วัดเขี้ยวแก้วนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้วนะครับ ต้องซื้อแยกสถานที่กันหมดเลยนะครับ***

ได้ราคาดีอย่างนี้ พวกผมก็ตัดสินใจเอาทันทีครับ เพราะตกคนละ 750 บาทเงินไทย ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเขาจะได้อะไร เพราะค่าเข้าก็ปาเข้าไป 700 บาทต่อหัวแล้วครับ สำหรับ 25 ยูเอสดอลล่าร์ (เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าไม่เห็นพี่แกจ่ายค่าเข้าตรงไหนเลยสักที่เดียว เพราะปกติ จะต้องมีตั๋วค่าเข้า ที่เป็นปกกระดาษแข็งๆ และมี CD Rom อยู่ข้างในด้วย (เดี๋ยวจะให้ดูตั๋วของเมือง โพลอนนารูวา สิกิริยา และ วัดเขี้ยวแก้วนะครับ ว่าหน้าตาเป็นยังไง) แต่เป็นที่แรกพวกเราเลยไม่รู้ แต่ก็ช่างเถอะ ถ้ามันทุจริตก็ขี้โกงประเทศมันเอง ช่วยไม่ได้ หลังจากนั้นก็นัดเวลา ออกจากโรงแรมตอน 9 โมงเช้าจากโรงแรมครับ มีโชเฟอร์มารับเราตรงเวลาเป๊ะ  


โชเฟอร์พาเรามายังที่แรก ก็คือ วัดอิสุรุมุณียะ  ครับ อย่างที่บอกว่าไม่รวมค่าเข้าสำหรับวัดนี้ พวกเราเลยจ่ายค่าเข้ากันเองครับ คนละ 200 รูปี (50 บาท) ก่อนเข้าวัดก็ต้องถอดรองเท้าด้วยนะครับ มีที่วางรองเท้าอยู่ด้านหน้าวัด


อิสุรุมุณียวิหาร (Isurumuniya Viharaya) อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำ ติสสะเววะ (Tissa Wewa) สมัยอดีตเรียกชื่อว่า อิสสรสมณวิหาร สังกัดสำนักมหาวิหาร พระเจ้าเทวะนัมปิยะติสสะโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายพระสงฆ์ผู้ออกบวชจากตระกูลสูง และอยู่ภายใต้ราชูปถัมภ์เรื่อยมาหลายศตวรรษ สิ่งก่อสร้างปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นมาใหม่ (ข้อมูลจากหนังสือ ของดีศรีลังกา โดยลังกากุมาร หน้า 126)


เดินเข้ามาในวัด ด้านซ้ายมือ มีที่ล้างมือล้างเท้าก่อนเข้าวัด ชาวบ้านที่นี่เขาก็มาไหว้พระทำบุญกัน แต่งชุดสีชาวสดใส พวกเราอดใจไมได้ก็ขอถ่ายรูปเป็นที่ระทึกครับ  ด้านหลังพวกเราในรูปนี้คือพิพิธภัณฑ์ มีศิลปวัตถุงานสลักตั้งแสดงไว้หลายชิ้นมากครับ 


เข้ามาข้างในพิพิธภัณฑ์ ก็ถ่ายรูปมาให้ดูกันนะครับ สักเล็กน้อย อันนี้เป็นงานสลักชื่อว่า ครอบครัวกษัตริย์ครับ หรือ King Family 


ส่วนอันนี้โดดเด่นและสวยงามที่สุดครับ ชื่อว่า The Lovers หรือ งานสลักคู่รักครับผม  


ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ข้างๆ วิหารพระนอน ก็มีรูคล้ายๆถ้ำแบบนี้ครับ มีค้างคาวเยอะมากครับ ร้องเสียงระงมไปหมดครับ 


องค์นี้คือพระนอน ในวิหารพระนอนนะครับ องค์ใหญ่พอประมาณครับ 


อีกมุมหนึ่งในวิหารพระนอนครับ 


ในวิหารพระนอนนี้จะมีภาพเขียน บอกเล่าเรื่องราวการสร้างวัดแห่งนี้ครับ



ตรงนี้คือพระวิหารครับ ซึ่งสลักเข้าไปในภูเขา  ตามบันไดทางขึ้นจะมีภาพสลักสวยงามหลายภาพ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยแคนดี้



ภาพนี้ถ่ายรายละเอียดของบันไดทางขึ้นพระวิหารนะครับ 



ถ้าเราหันหน้าเข้าหาพระวิหาร ก็จะมีสระน้ำอยู่นะครับ ซึ่งถ้าเราสังเกตุดีๆ ตรงหินใกล้ๆระดับน้ำ มีรูปช้างแกะสลักอยู่ด้วยครับ

อันนี้เป็นสะน้ำในวัด อิสุรุมุณียวิหารนะคับ 




ข้างๆ วิหารพระนอน จะมีทางสำหรับให้เราเดินขึ้นไปยังเจดีย์ที่อยู่ด้านบนพระวิหารครับ 


เข้ามาแล้วก็เดินไปตามทางเดินแบบนี้นะครับ แล้วจะมีบันไดขึ้นไปข้างบน


ขึ้นมาข้างบนแล้วจะเห็นรอยพระพุทธบาท แบบนี้ครับ ข้างในมีรูปพระนอนด้วยครับ


อีกฝั่งจะเห็นยอดเจดีย์ข้างบนวิหารนะครับ 


ด้านนี้มองออกไปจะเห็นอ่างเก็บน้ำอยู่ลิบๆนะครับ (อ่างเก็บน้ำ ติสสะเววะ)


มองออกมาด้านหน้า ก็จะเห็นสระน้ำ และลานจอดรถด้านนอกวัดนะครับ


ชมวิวพอสมควรแล้วก็เดินลงมา เจอเจ้ากระรอกตัวนี้ครับ วิ่งไปวิ่งมา พอจะถ่ายรูป มันก็หยุดให้ถ่ายเฉยเลยครับ น่ารักจริงๆ 


อีกฟากหนึ่งของสระน้ำจะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ครับ มีชาวบ้านมาไหว้ขอพรกันเยอะเหมือนกันครับ


เสร็จแล้วก็ออกมาจะไปลานจอรถก็เจอพ่อค้าขายพระพร้าวสีทองอีกแล้วครับ หรือ คิงโคโคนัท นั่นเอง ที่นี่ลูกละ 40 รูปี ครับ (10 บาท) เปรี้ยวมาก น้ำไม่หวานเลย


ภาพนี้เป็นภาพสระบัว ที่อยู่ด้านหน้าของวัด อิสุรุมุณียะนะครับ แต่ยังไม่มีดอกให้เห็นเลยสักดอก


ตาโชเฟอร์รอพวกเราอยู่ที่ลานจอดรถแล้วก็ พาเรามาอีกวัดหนึ่งครับ คือวัดศรีสรันดามหาพิริเวนา Sri Saranda Maha Piriwena ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดอิสุรุมุณียาเท่าไหร่ครับ


จุดเด่นของวัด Sri Saranda Maha Piriwena นั้นก็คือจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่โตมโหฬารสีข่าวตระหง่านมองเห็นได้จากที่ไกลๆครับ 


ลุงเสริมเห็นพระก็ขอถ่ายรูปด้วย หลวงไข่เลยจัดการให้ 1 รูป พระรูปนี้หน้าไม่ค่อยออกไปทางศรีลังกาเลยนะครับ


ไหนๆก็มาวัดนี้แล้วก็ถือโอกาสทำบุญซะเลย มีให้เขียนชื่อเขียนจำนวนเงินเองด้วย เลยทำไป 300 รูปี ครับได้บัตรอนุโมทนามาแบบนี้ครับ


อีกมุมหนึ่ง ด้านหน้าองค์พระใหญ่มีชาวบ้านมาจุดเทียนทำบุญกันครับ (ไม่เห็นเขาจุดธูปกันเลยครับ เท่าที่สังเกต เขาไม่จุดธูปนะครับที่ศรีลังกา)


เราไปถึงช่วงประมาณ 10 โมงครึ่งตามเวลาท้องถิ่นศรีลังกานะครับ (เวลาที่ศรีลังกา ช้ากว่าบ้านเรา 1 ชั่วโมง 30 นาที ครับ) ที่วัดนี้ก็จะมีวงตะโพน มาฉลองพระเขี้ยวแก้วกันครับ


จากการสอบถามโชเฟอร์ของเรา แกบอกว่าวัดนี้ได้นำเอาพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าบางส่วนมาจากวัดเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี้ครับ เอามาประดิษฐานในผอบ ในนี้ครับ แล้วจะมีการฉลองพระเขี้ยวแก้วทุกวัน ทำเหมือนที่วัดมัลลิกาว่าที่แคนดี้เลยครับ เสร็จพิธีก็ปิดประตูหมดเลย ทำเหมือนวัดพระเขี้ยวแก้วที่แคนดี้เด๊ะเลยครับ พวกเราเลยได้ไหว้พระเขี้ยวแก้วที่นี่ก่อนไปถึงเมืองแคนดี้ครับ


อีกมุมหนึ่งของวัด Sri Saranda Maha Piriwena มีพระพุทธรูปองค์นี้ครับ งามมากๆเลยต้องถ่ายรูปเก็บได้ด้วยครับ เสร็จแล้วก็ออกมาขึ้นรถที่หน้าวัด  Sri Saranda Maha Piriwena ซึ่งโชเฟอร์ก็รออยู่แล้ว พวกเราหิวน้ำเลยขอเวลาไปซื้อน้ำและขนมตรงร้านค้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัด มีหลายร้านมากครับ ส่วนพี่ทิพย์ก็อยากกินกาแฟ เลยไปขอน้ำต้มชาวบ้านที่เป็นร้านค้า ปรากฎว่าน้ำที่เขาต้มมาให้รสชาติแบบแปลกๆมาก เหมือนกับน้ำไม่สะอาด ต้องเททิ้งหมดเลยครับ อดกินกาแฟเลย 555


สถานที่ต่อมาครับ โชเฟอร์พาพวกเราไปนมัสการเจดีย์องค์ใหญ่มโหฬารองค์นี้ครับ ขอบอกว่าถ้าไปเห็นสถานที่จริงก็จะต้องอึ้งและทึ่งกับขนาดขององค์เจดีย์ครับ ใหญ่จริงๆ เจดีย์นี้ชื่อว่า รุวันแวลิแสยเจดีย์ (Ruwanveliseya Cetiya) ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธลังกา  พระเจ้าทุฏฐคามณีโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการปรพกาศเอกราชจากทมิฬหินชาติ ซึ่งปกครองอาณาจักรอนุราธปุระยาวนานถึง 44 ปี เจดีย์มีความสูง 91 เมตร วัดขนาดโดยรอบ 190 เมตร ภายนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุอีกทั้งบรรจุแก้วแหวนเงินทองของมีค่าจำนวนมากแต่น่าเสียดายที่พระมหาเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จดังพระราชประสงค์ พระองค์ก็มาด่วนสวรรคตเสียก่อน พระเจ้าสัทธาติสสะผู้อนุชาจึงดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จ ครั้นอาณาจักรชาวสิงหลย้ายลงใต้เพราะภัยสงคราม เจดีย์แห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไร้ผู้คนดูแลรักษาหลายศตวรรษ


จวบจน พศ.2416 พระนวันวิตะ สุมนสารเถระ ได้เดินทางจาริกแสวงบุญผ่านมาเห็นความทรุดโทรมของพระมหาเจดีย์ จึงได้ชักชวนญาติโยมช่วยกันหักร้างถางพงและบูรณะขึ้นมาใหม่ ต่อมาปีพศ.2445 พราหมณ์จารีวลิสิงหะหริสจันทรา ได้สานงานสืบต่อก่อตั้งทุนนิธิบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์จนแล้วเสร็จเปิดเป็นทางการเมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน พศ. 2483 ความสูงวัดได้ 103 เมตร วัดฐานโดยรอบได้ 191 เมตร ส่วนอัญมณีที่ประดิษฐานบนยอดฉัตรได้รับบริจาคจากรัฐบาลทหารพม่า สำหรับรูปปั้นทางด้านทิศเหนือคือพระเจ้าทุฏฐคามณี รูปปั้นสตรด้านทิศใต้คือพระนางวิหารมหาเทวี พระราชมารดาของพระองค์ ส่วนถัดมาคือพระเจ้าภาติกอภัย ผู้บูรณปฏิสังขรณ์รุวันแวลิแสยเจดีย์สมัยอาณาจักรอนุราธปุระตอนกลาง กล่าวกันว่าเจดีย์ใหญ่ชัยมงคลของไทย ได้แรงบันดาลใจไปจากเจดีย์แห่งนี้ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 140


พระเจ้าทุฏฐคามณี (พ.ศ. 382 - 406) (King Dutthagamani)  เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากากวัณณติสสะ และ พระนางวิหารมหาเทวี แห่งแคว้นโรหณะแดนใต้ สมัยนั้น เมืองอนุราธปุระตกอยู่ภายใต้การครอบครองของกษัตริย์ทมิฬนามว่าเอฬาระ เล่าลือกันว่าเมื่อมีพระชันษายุกาลเยาว์วัย พระองค์ได้ฝึกปรือทหารหาญเพื่อเตรียมการกอบกู้บ้านเมืองขับไล่ทมิฬคนนอกแม้พระบิดาจะทรงห้ามปรามหลายครั้งแต่พระองค์กลับไม่เชื่อฟังยอมตาม จึงมีพระนามเรียกขานกันว่า ทุฎฐคามณีแปลว่าเจ้าชายคามณีคนดื้อรั้น (ภาษาสิงหลเรียกว่าดุตุแคมุณุ) ต่อมาครั้นพระราชบิดาสวรรคตสิ้นแล้ว ได้ยาตราทัพเข้าตีอนุราธปุระเมืองหลวงหลายครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้งไป ครั้งสุดท้ายได้ทำสงครามยุทธหัตถีกับพระเจ้าเอฬาระสามารถมีชัยเหนืออริราชศัตรู จากนั้นทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เหนือเกาะลังกาเป็นเอกกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว ครั้นแล้วโปรดให้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนสงฆ์ที่ทรุดโทรมโรยราคราเมื่อทมิฬยึดครองลังกา และโรดให้สร้างศาสนสถานจำนวนมาก  ดังเช่น รุวันแวลิแสยเจดีย์ โลหมหาปราสาท และมิริสแวฏิยเจดีย์ สมัยนี้สถาบันชาติและศาสนาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นเหตุให้คณะสงฆ์เข้าแทรกแซงฝ่ายอาณาจักรจนสามารถเลือกกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ได้ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 141
     

ก่อนเข้ามาข้างในเขตเจดีย์ต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอกด้วยนะครับ สังเกตความยิ่งใหญ่อลังการของรุวันแวลิแสยเจดีย์นะครับ ดูจากขนาดของคนที่เดินอยู่บริเวณฐานของเจดีย์กับองค์เจดีย์ครับ ใหญ่มากจริงๆ มาถึงที่นี่แล้วก็ควรจะสวดมนต์บูชาดังนี้นะครับ

บทสวดบูชารุวันแวลิแสยเจดีย์ 

สะยิงสุ  ยัสมิง  สุคะตัสสะ  ธาตุ
นิมมายะ รังสุชชะละ พุทธรูปัง
สุวัณณะมาลีติ ปะติตะ นามัง
วันทามะหัง ถูปะวะรัง มะหัคฆัง ฯ

พระบรมสารีริกธาตุของพระสุคตเจ้าประดิษฐาน ณ ทิสาภาคใด อีกทั้งพระพุทธปฏิมาอันเปล่งรัศมีเจิดจ้าดั่งสายฟ้า ประดิษฐานมั่นคงมีนามปรากฏว่าสุวัณณมาลีเจดีย์ ข้าพเจ้าขอยกกรวันทามหาเจดีย์อันประเสริฐเลิศล้ำ ณ ทิสาภาคนั้น ฯ 

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 14


มุมนี้มีพระพุทธรูปที่บริจาคมาจากประเทศพม่าด้วยครับ เจ้าลิงพวกนี้ก็มากินดอกไม้ที่ประชาชนเอามาถวายพระครับ 


พี่สุรชัยเห็นความอลังการของเจดีย์แห่งนี้เลยตั้งใจเดอนสวดมนต์สามรอบเจดีย์กลางแดดร้อนๆครับ ส่วนหลวงไข่ขอเดินชมรอบๆ แค่รอบเดียวก็พอครับ ลุงเสริมกับพี่ทิพย์บอกว่าขอบายครับ เพราะหาที่หลบมุมแดดอยู่ตรงด้านหน้าเจดีย์ตรงห้องที่เขารับบริจาคบำรุงรักษาสถานแห่งนี้ครับ


พุทธศาสนิกชนชาวลังกา ก็มานั่งไหว้เจดีย์กันในร่มแบบนี้ครับ 


อีกด้านหนึ่งจะเป็นอาคารคล้ายๆ อุโบสถ ได้ยินเสียงสวดมนต์ไหว้พระ หลวงไข่ ลุงเสริม พี่ทิพย์ก็เข้ามาแจมไหว้พระด้วย แอบเก็บภาพนี้มาได้ครับ ชาวศรีลังกาไหว้พระครับ ส่วนพี่สุรชัย ยังเดินสวดมนต์อยู่รอบๆ เจดีย์ยังไม่ครบ  สามรอบครับ 


ที่อาคารรับบริจาคที่พี่ทิพย์กับลุงเสริมนั่งหลบแดดอยู่จะมีลุงคนหนึ่งอยู่ข้างใน คอยรับบริจาคอยู่ครับ พอใครบริจาคเท่าไหร่ ก็จะได้ใบเสร็จมาตามจำนวนเงินที่บริจาคครับ แถมมีประกาศชื่ออกกระจายเสียงว่าชื่ออะไร จากประเทศไทยแลนด์ด้วยครับ 


พี่ทิพย์ได้ยินเขาประกาศชื่อหลวงไข่จากไทยแลนด์ก็ไม่ยอมครับ ลุกขึ้นมาบริจาคด้วยคน แถมอยากได้หลายสีอีกต่างหาก เลยได้มาหลายใบเลย ใบสีเหลือง 10 รูปี สีชมพู 100 รูปีครับ


อันนี้ของหลวงไข่ครับ บริจาค 100 รูปีได้แบบสีชมพูมาครับ 


ระหว่างรุวันแวลิแสยเจดีย์กับวัดพระศรีมหาโพธิ์จะมีทางเดินเชื่อมถึงกันครับ ให้เดินไปตามมางเดินนี้ก็จะเจอวัดพระศรีมหาโพธิ์ครับ เดินประมาณ 300 เมตรก็ถึงครับ


หลวงไข่บอกให้ทุกคนเดินไปวัดพระศรีมหาโพธิ์ได้แล้ว แต่พี่สุรชัยกับพี่ทิพย์ยังไม่อยากไปครับ ไปถ่ายรูปกับชาวบ้านศรีลังกาที่มาทำบุญครับ ดีใจกันใหญ่พอรู้ว่าเรามาจากไทยแลนด์ 


แต่ลุงเสริมนี่สิ เห็นตำรวจแล้วจะถ่ายรูปให้ได้ เลยจัดให้อีกรูป น่าจะปล่อยให้อยู่ศรีลังกานะเนี่ย ผูกมิตรกับชาวบ้านได้เร็วขนาดนี้ อาหารศรีลังกาลุงเสริมก็กินได้หมดทุกอย่าง แถมบอกว่าอร่อยอีกต่างหาก 555 สงสัยอยากอยู่ศรีลังกาแน่ๆ


หลังจากเยี่ยมชมรุวันแวลิแสยเจดีย์เรียบร้อยแลวก็เดินไปตามทางเดินไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ครับผม ก่อนเข้าต้องถอดรองเท้าไว้ข้างหน้าครับ ที่นี่มีเจ้าหน้าที่คอยเก็บรองเท้าให้ แล้วก็เข้าไปตามประตู มีประตูเข้าแยกหญิงชาย พอเข้าไปข้างใน เจ้าหน้าที่ก็ให้บริจาคตามศรัทธาครับ เสมือนจ่ายค่าเข้าประตู เลยทำบุญไปคนละ 100 รูปีครับ อ้อลืมบอกไปครับ ว่าตอนที่พวกเราไปนั้นเขายังไม่เปิดให้เข้าไปชมต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้านในครับ เพราะเขาบอกว่าจะเปิดให้เข้าไปชมข้างในตอนบ่ายสอง แต่พวกเราไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้นเพราะต้องไปที่อื่นต่อ เลยได้ถ่ายแค่รอบๆครับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (Sri Mahabhodhi) เป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธลังกาเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคูเมือง และเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมจิตใจนอกจากพระเขี้ยวแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เมืองแคนดี้  ชาวพุทธศรีลังกามิได้ศรัทธาเพียงว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นสัญลักษณ์แทนการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น หากแต่เชื่อมั้นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดำรงชีวิตอยู่เหนือพระพุทธองค์ จึงเรียกขานกันว่า ชัยศรีมหาโพธิวะหันเส แปลว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งยังมีพระชนม์ชีวิตอยู่ 


ชาวบ้านบางคนก็ยืนไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้านนอกครับ บางส่วนก็ไหว้ สวดมนต์อยู่ใต้ร่มไม้ 
ต้นพระศรีมหาโพธิ์แหงนี้เป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและศรีลังกา เหตุด้วยพระเจ้าอโศกมหาราชจอมจักรพรรดิแห่งอินเดียประเทศได้เจริญสัมพันธไมตรีทางศาสนากับกษัตริย์ลังกา โดยการจัดส่งพระราชโอรสคือพระมหินทเถระให้เดินทงมาเผยแพร่พุทธศาสนาบนผืนเกาะลังกาแห่งนี้นอกจากนั้นเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้โปรดให้พระราชธิดาคือพระสังฆมิตตาเถรีเดินทางมาอุปสมบทกุลสตรีชาวลังกา คราวเดียวกันนั้นโปรดให้พระเถรีอัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่นครอนุราธปุระด้วยกล่าวกันว่าพิธีต้อนรับพระศรีมหาโพธิ์ครั้งนั้นยิ่งใหญ่ตระการตายิ่งนักตลอดทางระหว่างท่าเรือเมืองจัฟฟ์นาตอนเหนือจนถึงอนุราธปุระเมืองหลวงต่างประดับประดาด้วยดอกไม้ธงทิว แม้พระเจ้าแผ่นดินลังกาทรงศัทธาแรงกล้าเสด็จไปรับกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ด้วยพระองค์เอง 


ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ภายใต้การดูแลอารักขาดูแลของรัฐบาลอย่างเข้มงวด อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่จากกรมเกษตรและพืชไร่เข้ามาตรวจสอบสภาพของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นประจำมิได้ขาด 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 128-131

บทสวดบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์

วันทามิ  เจติยัง  สัพพัง               สัพพัฏฐาเน  สุปะติฏฐิตัง
สารีริกะธาตุ   มหาโพธิง              พุทธะรูปัง  สะกะลัง  สะทา ฯ

ข้าพเจ้าขอวันทาพระเจดีย์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งประดิษฐานในสถานที่ต่างๆบรรดามี อีกทั้งพระสารีริกธาตุ ต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธปฏิมาตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ

ยัสสะ  มูเล  นิสินโนวะ                 สัพพาริ วิชะยัง  อะกา
ปัตโต  สัพพัญญุตัง  สัตถา           วันเท ตัง  โพธิปาทะปัง ฯ 

พระบรมศาสดาทรงประทับนั่ง ณ ควงแห่งต้นโพธิ์ใด ได้ทรงชำนะหมู่มารสิ้นทั้งหลาย และทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณได้แล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมวันทา ณ ควงแห่งต้นโพธิ์นั้น ฯ 

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 12


เดินออกมาเอารองเท้าด้านหน้าวัดพระศรีมหาโพธิ์ ก็มีผู้ชายลังกาคนหนึ่งเอาเทียนในตลับแบบนี้มาให้หลวงไข่กับลุงเสริมคนละอัน อันนี้เข้าใจแต่แรกแล้วว่าอีตาคนนั้นมันจะต้องขอตังค์เราแน่ๆ บริการซะขนาดนี้ สักพักผู้ชายคนนั้นพาเรามาตรงที่จุดเทียนตรงนี้ แล้วก็จุดเทียนให้หลวงไข่กับลุงเสริม แล้วให้อธิษฐาน เสร็จแล้วก็วางเอาไว้ แล้วขอตังค์เงินไทย 100 บาท ผมก็ควักให้ไป แต่มานึกๆดู เราให้เขาเยอะไปหรือเปล่า แค่เทียน 2 อัน แต่ตอนอีตานั่นขอตังค์มันบอกว่ามันมีลูก 3 คน ภรรยา 1 คน ต้องดูแล ผมเลยสงสารใจอ่อนยอมให้ไป พอนั่งแถวนั้นไปอีกสักพัก ก็มีตาลุงอีกคนหนึ่งเข้ามาจะให้ไปจุดเทียนอีกรอบ เราบอกว่าเราจุดมาแล้วรอบหนึ่งแกเลยถือโอกาสมาขอตังค์อีกบอกว่าต้องเลี้ยงลูก 5 คน อะไรประมาณเนี้่ย ด้วยความรำคาญ ผมเลยชักให้ไป 20 บาทไทย ยังมีหน้ามาขอเพิ่มอีก ผมเห็นท่าไม่ดีเลยเดินออกไปจาตรงนั้น แล้วก็เริ่มหิวตะหงิดๆ เพราะตั้งแต่เช้าได้กินแค่ขนมปังกับหมูหยองที่เตรียมมาจากประเทศไทย ถามตำรวจข้างหน้าว่าเขาขายน้ำขายข้าวกันตรงไหน ตำรวจชี้ไปทางด้านหน้าของทางเข้าบอกว่ามีป้อมตำรวจอยู่ให้ไปซื้อที่ร้านค้าของป้อมตำรวจ (พวกผมเข้ามาทางด้านข้าง จากรุวันแวลิแสยเจดีย์ไม่ได้เข้ามาจากด้านหน้า) ผมเลยเสียสละออกไปซื้อน้ำคนเดียวที่ป้อมตำรวจ ที่จริงประมาณว่าเป็นร้านค้าของพวกตำรวจมั้งบอกไม่ถูก แต่ตำรวจนั่งอยู่เต็มเลย  ไปเจอข้าวแบบศรีลังกามาด้วยเลยซื้อมา 1 ห่อ 90 รูปีห่อใหญ่มาก ไม่กล้่าซื้อ 2 ห่อ กลัวจะกินไม่ได้เลยลองซื้อมาแค่ห่อเดียว และห่อก็ใหญ่มากๆด้วยครับกินได้ทั้ง 4 คนเลย


เดินกลับมาที่วัดพระศรีมหาโพธิ์ พี่สุรชัยไหว้พระเสร็จแล้วเรา 4 คนก็เดินกลับมาที่รถที่โชเฟอร์จอดรออยู่หน้ารุวันแวลิแสยเจดีย์ แล้วก็แกะห่อข้าวที่ซื้อมา 1 ห่อด้วยใจลุ้นระทึกว่าจะกินได้หรือกินไม่ได้ ปรากฏว่าสีมันออกมาไม่น่ากินเลยครับ เหมือนข้าวราดแกงที่มีแต่ผัก อีกด้านใส่ถั่วเหลืองบด ผสมกลิ่นเครื่องเทศ แต่พอลองกินดูครับ ด้วยความหิวข้าว 4 คนกินก็หมดเกลี้ยงห่อเลยครับ 555 มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเลยครับ แย่งกันกินอีกต่างหาก รวมกับหมูหยองที่เตรียมมาจากไทยแลนด์ก็เข้ากั๊นเข้ากัน อร่อยจริงๆนะครับ ขอบอก ไม่ได้โม้


กินไปสักพัก หมาศรีลังกามาจากไหนไม่รู้ กรูกันเข้ามาล้อมพวกเรา มาหาของกิน ก็เลยต้องสละขนมปังไปให้พวกมันกินอีกหลายชิ้น เพราะคนต้องกินข้าว ไม่สามารถให้ข้าวหมากินได้ คนต้องกินก่อน 5555 


สถานที่ต่อมาโชเฟอร์พาเรามายัง ถูปารามเจดีย์ (Thuparama Cetiya) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธลังกา ถือว่าเป็นเจดีย์องค์แรกของลังกา สร้างโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ตามคำแนะนำของพระมหินทเถระ เจดีย์เดิมเป็นทรงลอมฟางเป็นหลังคาครอบมีเสาหินค้ำยัน ภาษาสิงหลเรียกว่า วฎทาเค ภายในประดิษฐานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวา (กระดูกไหปลาร้า) ที่สุมนสามเณรไปอัญเชิญมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวกันว่าพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะโปรดให้จัดงานเฉลิมฉลองพระเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่และขนานนามว่าสังฆารามเจดีย์ พร้อมกันนี้โปรดให้พระมหินทเถระและคณะสงฆ์สังฆายนาพระธรรมวินัยบริเวณถูปารามเจดีย์ด้วย

ครั้นอาณาจักรอนุราธปุระล่มสลายเพราะพวกทมิฬบุกรุกทำลายเจดีย์แห่งนี้ถูกทิ้งร้างไร้ผู้คนดูแลแม้จะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งยุคโปโฬนนารุวะ แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นหลังจากนั้นก็เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์หลายศตวรรษ จนมีการค้นพบอีกครั้งสมัยลังกาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยพราหมณ์จารีวลิสิงหะหริสจันทรา นักต่อสู้เพื่ออนุรักษ์มรดกล้ำค่าของบรรพบุรุษ สำหรับองค์เจดีย์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ.2505 ได้เปลี่ยนเจดีย์เดิมทรงลอมฟางเป็นทรงระฆังคว่ำ มีขนาดความสูง 3.45 เมตร วัดโดยรอบได้ 50.1 เมตรครับ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 141-142

บทสวดบูชาถูปารามเจดีย์

ยัสมิง  ทักขิณะ  มักขะกัญจะ  มุนิโน  ปัตตัปปะมาณา  ตะนุ
ธาตุจาปิ  นิธายะ  โลกะ  มะหิตา  ฉัพพัณณะ  โสภากุลา
เทวานัมปิยะติสสะ  ภูปะติวะโร  กาเรสิ  สัทธาธะโน
ถูปารามะ  วะรัง  นะมามิ  ตะมะหัง  อัชฌามิตัง  สัตถุนา ฯ

พระธาตุรากขวัญเบื้องขวาของพระมหามุนี อันไม่มีประมาณแผ่ซ่านออกไปแล้วโดยทิศาภาคใด อีกทั้งพระธาตุอันมีฉัพพรรณรังสีสว่างไสวงดงามกระจ่างแก่ชาวโลก อันพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะผู้เป็นจอมแห่งประชามีศรัทธาให้สร้างขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมวันทาถูปารามเจดีย์โดยทิสาภาคนั้น อันพระศาสดาเจ้าทรงเสพเสวยแล้ว ฯ

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 15


ด้านหลังเจดีย์ถูปารามตรงที่โชเฟอร์จอดรถรอเราอยู่นั้น มีตาลุงคนนี้มาขายเจ้าสิ่งนี้ครับ ใส่ในจานดินเผาเล็กๆ มีสีขาว แล้วเอาน้ำตาลที่สกัดมาจากยอดมะพร้าวมาใส่ลงไปอีกที รสชาติออกหวานๆ กินกันคนละอัน รู้สึกจะอันละ 30 รูปี ตาลุงเอาใบมะพร้าวมาตัดให้เป็นช้อนให้พวกเราคนละอัน กินไปคำแรกเข้าใจว่าเป็นโยเกิร์ตแบบศรีลังกาเพราะกลิ่นจะออกคาวๆเล็กน้อย เข้าใจว่าเป็นนมแพะ แต่พอถามโชเฟอร์เท่านั้นว่ามันคืออะไร คำตอบก็คือ นมควาย ครับ 555 พวกเรากินนมควาย พี่ทิพย์กับพี่สุรชัยถึงกับจะอ๊วก หลวงไข่กินไปครึ่งจานก็หยุดกิน ส่วนลุงเสริม เบิ้ล 2 อัน 555 สงสัยอยู่ศรีลังกาได้จริงๆ กินได้หมดทุกอย่างแถมบอกว่าอร่อยมากๆด้วย  โชเฟอร์บอกว่าต้องทำด้วยนมควายเท่านั้น เพราะนมของสัตว์ชนิดอื่นจะไม่จับตัวเป็นก้อนแข็งได้เหมือนนมควายครับ 


ที่ถัดมาที่โชเฟอร์พาพวกเราไปคือ ลังการามเจดีย์ (Lankarama Cetiya) 


ที่ลังการามเจดีย์นี้เป็นอารามของภิกษุณีสงฆ์แห่งสำนักอภัยคีรีวิหาร มีนามเรียกขานกันว่ามณิโสนาราม พระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่ภิกษุณีสงฆ์ เจดีย์มีขนาดเล็กกะทัดรัดเช่นเดียวกับถูปารามเจดีย์  กล่าวคือ มีเสาหินค้ำยันหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง เรียกว่า วฏทาเค สมัยนั้นภิกษุณีแห่งอารามนี้เชี่ยวชาญแตกฉานคำสอนมหายานยิ่งนัก ครั้นต่อมาจักรพรรดิจีน ทราบข่าวได้ส่งคณะราชทูตมาทูลขอภิกษุณีลังกาไปบวชกุลสตรีชาวจีน พระเจ้าแผ่นดินลังกาได้อาราธนาภิกษุณีสงฆ์มีพระเทวสาราเถรีเป็นหัวหน้า ออกเดินทางไปประดิษฐานพระศาสนาที่ประเทศจีนโพ้นทะเล คณะภิกษุณีกลุ่มนี้ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์สุง ณ เมืองนานกิง จากนั้นได้อุปสมบทกุลสตรีชาวจีนเป็นภิกษุณีจำนวน 300 รูป คราวนั้นจักรพรรดิจีนได้สร้างวัดถวายนามว่าวินฟุ (Vinfu Monastery) ถือว่าเป็นวัดภิกษุณีแห่งแรกในประเทศจีน ภิกษุณีสงฆ์สายนี้มีการสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันในชื่อว่า ธรรมคุปตวินัยนิกาย (Dharma Gupta Vinaya Nikaya) 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 150


ที่ต่อมาโชเฟอร์พาพวกเรามาจอดที่สระน้ำแห่งนี้ครับ เรียกว่า Elephant Pond ผมไม่มีข้อมูลมากไปกว่านี้ แต่โชเฟอร์บอกว่าเป็นที่พระสงฆ์มาสรงน้ำได้พร้อมกันถึง 5000 รูป


ให้เห็นชัดๆถึงคามกว้างใหญ่ของสระแห่งนี้นะครับ คงได้ 5000 รูปจริงๆ แหละครับ


ที่ต่อมาคือรัตนปราสาท (Ratnaprasada) เป็นพระอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ลงทำวินัยกรรม ถือว่าเป็นอาคารหลังใหญ่สุดในสำนักอภัยคีรีวิหาร สร้างโดยพระเจ้ากนิฏฐติสสะ (พ.ศ. 710-727) กล่าวตามหลักฐานอาคารหลังนี้มีหลายชั้น สันนิษฐานว่าเลียนแบบโลหปราสาทของสำนักมหาวิหาร สิ่งน่าสนใจภายในคือศิลาอารักษ์ (Guardstone) ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้ารัตนปราสาท เดิมมีสองข้าง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงด้านเดียว นักวิชาการต่างลงความเห็นกันว่า เป็นศิลปวัตถุที่เกิดพัฒนาการจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของลังกา สมบูรณ์ชัดเจนด้วยรายละเอียดและงดงามสมส่วนที่สุด โดยมีลักษณะเป็นรูปมนุษย์นาคถือแจกันดอกไม้และหม้อปูรณฆฏะ อันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งมีมกรโตรานเป็นโค้งวงกลมด้านบนสุด ส่วนด้านล่างเป็นรูปคนแคระ หลักฐานบางแห่งชี้ว่ามนุษย์นาคหมายถึงท้าวจตุโลกบาลนามว่ากุเวรผู้เลิศด้วยทรัพย์ศฤงคาร ส่วนคนแคระหมายถึงสังขะหรือปัทมะผู้เป็นบริวารทำหน้าที่ดูแลขุมทรัพย์ของพระองค์
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 151-152



ป้ายอธิบายความเป็นมาของรัตนปราสาทคับ ค่อนข้างเลือนออกไปเยอะแล้วครับแต่ยังพออ่านได้


พัฒนาการของศิลาอารักษ์ (The Development of the Guardstone) ศิลาอารักษ์เป็นแท่งหินสองข้างตรงเชิงบันไดทางเข้าศาสนสถาน นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นคติความเชื่อของชาวศรีลังกาตั้งแต่อดีตกาล พบเห็นพัฒนาการครั้งแรกที่ติริยายะราชมหาวิหาร จากนั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหลายครั้ง สามารถสรุปพัฒนาการได้ 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1) มีลักษณะเป็นหินสี่เหลี่ยมทั้งก้อน 2) เริ่มพัฒนาเป็นรูปทรงคล้ายใบเสมา 3)กลายร่างเป็นหม้อปูรณฆฏะแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง 4)เป็นรูปคนแคระ 2 ตน เชื่อว่าเป็นบริวารของท้าวกุเวร บางครั้งเป็นรูปพญานาค 7 เศียร 5) เป็นรูปท้าวกุเวรถือพวงดอกไม้และหม้อปูรณฆฏะ บางแห่งสลักคนแคระเป็นบริวาร บางแห่งมีมเหสีกำกับอยู่ด้วย บางแแห่งเพิ่มนาค 7 หัวอยู่บนเศียร และ 6) เกิดพัฒนาการอ่อนช้อยงดงามถึงขีดสุด กล่าวคือ มีมกรโตรานเป็นโค้งวงกลมอยู่ด้านบนและมีนาค 7 หัวอยู่บนเศียร ศิลปวัตถุเหล่านี้พบเห็นเฉพาะสมัยอาณาจักรอนุราธปุระและอาณาจักรโปโฬนนารุวะเท่านั้น ครั้นต่อมาภายหลังสถาปนิกได้เปลี่ยนคติความเชื่อเป็นอย่างอื่น

คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 152


ดูขนาดเสาหินแที่รัตนปราสาทต่ละต้นเทียบกับขนาดของลุงเสริมนะครับ ว่าสูงและใหญ่ขนาดไหน


เดินไปอีกฟากถนน จะมีอัฒจันทร์ศิลา หรือ Moonstone มีลักษณะเป็นหินครึ่งวงกลมอยู่บนพื้นดินด้านหน้าทางเข้าศาสนสถานลักษณะเหมือนพรมเช็ดเท้า มีภาพสลักรูปทรงแตกต่างกันออกไป อัฒจันทร์ศิลาด้านหน้าปัญจวาสะภายในสำนักอภัยคีรีวิหารแห่งนี้ถือว่าสมบูรณ์งดงามที่สุด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากสถูปสาญจิ ประเทศอินเดีย ต่อมาเกิดพัฒนาการกลายเป็นเอกลักษณ์แบบศรีลังกา บิดาประวัติศาสตร์ของศรีลังกานามว่าปะระณะวิตานะ (S. Paranavitana) ตั้งข้อสังเกตว่า อัฒจันทร์ศิลาเป็นปริศนาธรรมประจำศาสนสถาน วงนอกสุดเป็นรูปเปลวไฟเปรียบเสมือนราคะ โทสะ โมหะ ที่ทำให้มนุษย์สามัญรุ่มร้อน ถัดมาเป็นสัตว์สี่ชนิดได้แก่ ช้าง ม้า สิงห์ และ วัว เปรียบเสมือนวงจรของชีวิต เกิดแก่เจ็บและตาย วงในถัดมาเป็นรูปเถาวัลย์ เปรียบเสมือนตัญหาพันผูกมนุษย์ให้หมุนเวียนจมปลักในวัฏฏะ ส่วนวงถัดมาเป็นหงส์เปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นสุทธาวาสอันเป็นที่อยู่ของบรรดาพระอนาคามี หากต้องการเข้าถึงพระนิพพานจำต้องก้าวข้ามให้ถึงพระพุทธรูปภายในศาสนสถาน การตีความดังกล่าวนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่การนะะเสนอมุมมองเช่นนี้ทำให้เกิดความสนใจในวงกว้างมากขึ้น 

คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 151


บริเวณนี้มีร้านขายของที่ระลึกด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นของเก่าๆครับ ไม่ได้ซื้ออะไร ผมได้หินมูนสโตนมาอันหนึ่งหนักเหมือนกัน จากราคาบอกตอนแรก 800 รูปีต่อราคาได้เหลือ 500 รูปี เอามาทับหนังสือ ไม่รู้จะซื้ออะไรจริงๆ มีแต่ของเก่า แต่ถ้าใครชอบของเก่าผมว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยครับ ที่ร้านค้าพวกนี้ 


สถานที่ต่อมาโชเฟอร์พาพวกเราไปที่ อภัยคีรีเจดีย์ (Abhayagiri Cetiya) เจดีย์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธลังกา สร้างโดยพระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย (พ.ศ. 454 - 466) ตรงบริเวณที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทเอาไว้ สันนิษฐานว่าเจดีย์หลังเดิมมีลักษณะเล็กกะทัดรัดค้ำยันด้วยเสาหินมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง ต่อมาพระเจ้าคชพาหุที่ 1 (พ.ศ.657 - 679) โปรดให้ขยายใหญ่ขึ้น มีความสูงถึง 71 เมตรวัดขนาดโดยรอบได้ 94 เมตร พร้อมสร้างสระน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งส่วนเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นการบูรณะซ่อมแซมสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งยุคโปโฬนนารุวะ จุดน่าสนใจเริ่มต้นจากซุ้มด้านหน้าเจดีย์ทั้งสี่ทิศซึ่งถือว่าเป็นงานประติมากรรมอันลือชื่อของลังกา (Frontispieces) ส่วนจิตรกรรมล้ำค่าคือศิลาอารักษ์ (Guardstone) เป็นรูปปั้นยักษ์แคระนามว่าสังขะและปัทมะ (Sankha & Padma) เชื่อว่าเป็นบริวารผู้อารักขาขุมทรัพย์ของเทพเจ้ากุเวรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ วิธีสังเกตคนแคระคือยักษ์สังขะมีสังข์ครอบหัว ส่วนยักษ์ปัทมะครอบศีรษะด้วยดอกบัว ผู้ค้นพบอภัยคีรีเจดีย์ครั้งแรกคือ พันเอก ฟอร์เบส (Forbes) เมื่อ พ.ศ.2371 เป็นเหตุให้คณะสำรจโบราณคดีของอังกฤษเข้ามาบูรณะซ่อมแซมในเวลาต่อมา 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 153

บทสวดบูชาอภัยคีรีเจดีย์ 

กะตะ  นะวะ  มะณิกัมเม  ธาตุคัพเภ  สุรัมเม
กะนะเก วะสะภะ  กุจฉัง  ธาตุนา  ปูระยิตวา
วิหิตะ  มะภะยะ  รัญโญ  ธัญญะ  ปุญญาธิวาโส
อะภะยะคิริ  วิหาเร  จารุ  ถูปัง   นะมามิ ฯ

ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุสำเร็จแล้วด้วยแก้มมณีอันวิจิตรบรรจงเต็มเปี่ยมแล้วด้วยพระ (อรหันต์) ธาตุบริสุทธิ์สะอาดดั่งเงินยวงอันพระราชาผู้มีบุญญาธิการนามว่าอภัยโปรดให้สร้างขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมวันทาอภัยคีรีเจดีย์ อันเปล่งแสงรุ่งโรจน์ดุจพระอาทิตย์ ฯ

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 16


ปัจจุบันนี้ อภัยคีรีเจดีย์ยังซ่อมไม่เสร็จนะครับ เดินเวียน 1 รอบ ก็ปวดฉี่ เดินออกไปหาห้องน้ำข้างนอก มีห้องน้ำให้ตรงบ้านพักคนงานด้านหน้าเจดีย์ครับ


ลุงเสริมเจอพระอีกแล้ว ขอถ่ายรูป จัดให้อีก 1รูปครับ 


อีกที่หนึ่งโชเฟอร์พาพวกเรามาชมพระศิลาครับ อยู่แถวๆสระคู่ พี่สุรชัยก็เข้าไปกราบและสวดมนต์เช่นเคยครับ


ต่อมาโชเฟอร์ก็พาพวกเราไปที่สระคู่ครับ (Kuttam Pokuna) เป็นสระน้ำสำหรับสงสนานพระสงฆ์แห่งสำนักอภัยคีรีวิหาร 5000 รูปถือว่าเป็นสระน้ำที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในลังกา สันนิษฐานว่าทั้งสองสระมิได้สร้างในสมัยเดียวกัน เหตุเพราะความแตกต่างด้านขนาดและลักษณะของงานศิลป์ นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นผลงานอันมหัศจรรย์ของสถาปนิกชาวลังกา เพราะสมบูรณ์ลงตัวด้านสถาปัตยกรรมอันชาญฉลาดโดยเฉพาะรูปสลักพญานาคถือว่าเป็นงานชิ้นเอกงดงามสมส่วนยิ่งนักแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อที่ว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ บอกกถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่วนหม้อปูรณฆฏะมีขนาดรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างจากศาสนสถานแห่งอื่นอย่างชัดเจน หากมองโดยภาพรวมเห็นได้ว่าสระคู่แห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบอมราวดีแห่งอินเดียประเทศ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 154



ที่ต่อมาคือเชตวันเจดีย์ครับ (Jetavana Cetiya) ฝนเริ่มตกมาปรอยๆตอนบ่าย ที่นี่จึงเป็นที่ที่เราไม่ได้ลงไปถ่ายรอบๆ เพราะต้องเดินทางไปมิหินตะเลอีกตอนบ่ายแก่ๆ 
เชตวันเจดีย์เป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวลังกา เชื่อกันว่าสร้างตรงบริเวณจิตกาธานของพระมหินทเถระผู้เป็นปฐมบูรพาจารย์ของลังกาประเทศ กำเนิดแห่งเชตวันเจดีย์เริ่มต้นที่พระเจ้ามหาเสนะ (พ.ศ. 817 - 844) ผู้ศรัทธาหลงใหลในลัทธิมหายานซึ่งมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่สำนักอภัยคิรีวิหาร ด้วยคำยุยงของพระสงฆ์ฝ่ายมหายานทำให้พระองค์เข้าใจผิดคิดดว่าคำสอนของสำนักมหาวิหาร อันสืบสายมาจากพระมหินทเถระเป็นมิจฉาทิฐิ จึงสั่งให้เผาทำลายวัดมหาวิหารจนสิ้นซาก พระสงฆ์ต้องหนีภัยย้ายไปอยู่เขตโรหณะตอนใต้ ต่อมาถูกเหล่าขุนนางบีบบังคับให้เนรเทศพระภิษุฝ่ายมหายานออกนอกประเทศ พระองค์จึงเปลี่ยนศรัทธาหันมาสนับสนุนคณะสงฆ์สาคิยนิกายแทน โดยสร้างวัดเชตวนารามภายในอาณาบริเวณของสำนักมหาวิหาร สำหรับเชตวันเจดีย์นั้น พระเจ้ามหาเสนะโปรดให้สร้างตรงบริเวณจิตกาธานของพระมหินทเถระ ถือว่าเป็นเจดีย์ใหญ่สุดบนผืนเกาะลังกา มีความสูงวัดได้ 160 เมตร หลังการสำรวจตรวจค้นมีการพบแผ่นทองบรรจุเนื้อหาว่าด้วยปรัชญาปารมิตาสูตร โดยบันทึกเป็นภาษาสิงหลผสมภาษาสันสกฤต ส่วมซุ้มด้านหน้าทั้งสี่ทิศมีประติมากรรมรูปปั้นสัตว์ 4 ชนิด กล่าวคือทิศตะวันออกเป็นช้าง ทิศใต้เป็นวัว ทิศตะวันตกเป้นม้า และทิศเหนือคือราชสีห์ เจดีย์ที่เห็นกันในปัจจุบันเป็นการบูณะขึ้นมาใหม่สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งยุคโปโฬนนารุวะ ต่อมาพ.ศ. 2439 กองโบราณคดีของอังกฤษโดยการนำของเบลล์ (H.C.P. Bell) ได้เริ่มต้นบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 160

บทสวดบูชาเชตวันเจดีย์

ปะติฏฐะเปตวา  ชินะกายะ  พันธะนัง
สะเกสะธาตุง  สะหะ  เทหะ  ธาตุโย
มะหามะหาเสนะ  นะรินทะ  การิตัง
สุเจติยัง  เชตะวะนัง  นะมามะหัง ฯ 

พระประคดเอวของพระชินสีห์ประดิษฐานแล้วภายใน พร้อมทั้งพระบรมสารีริธาตุและพระเกศธาตุอันสูงเลิศ อันพระเจ้ามหาเสนะผู้เป็นใหญ่เหนือนรชนโปรดให้สร้างขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมเชตวันเจดีย์นั้น ฯ 

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 17


ที่พวกเราตกลงราคาทัวร์กันตอนเช้า ทัวร์ก็สิ้นสุดที่นี่ แต่ยังพอมีเวลา เพราะเสร็จจากเชตวันเจดีย์ประมาณบ่าย  3 ครึ่ง จึงตกลงราคากับโชเฟอร์ถ้าพาเราไปมิหินตะเลด้วยคิดเพิ่มอีกเท่าไหร่ แกบอกว่าคนละ 1000 รูปี (ประมาณคนละ 250 บาท) ก็ยอมรับราคาได้เลยตกลงไปมิหินตะเลด้วยครับ ใช้เวลาเดินทางจากอนุราธปุระไปมิหินตะเลประมาณ 20 นาทีก็ถึงครับ โดยอีตาโชเฟอร์บอกว่าที่มิหินตะเลจะมีไกด์ท้องถิ่นพาเราชมสถานที่ด้วย ให้ค่าไกด์เขา 1500 รูปีก็พอ (พวกผมเข้าใจว่า อีตาโชเฟอร์ของเรา คงโทรนัดไกด์ท้องถิ่นให้มารออยู่แล้ว เพราะคิดว่าเขา ฮั้วกันน่ะครับ ) เพราะพอรถมาถึงปั๊บ ตาไกด์ท้องถิ่น เสื้อแดง ก็พามาทักทายพวกเรามันทีครับ จะไม่เอาก็ไม่ได้ แต่ก็ช่างเหอะ จ่ายอีกนิดจะเป็นไรไป เห็นบันไดแล้วใจหวิวๆ 5555 แต่ก็ต้องเดินขึ้นครับ สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยดอกลีลาวดีครับ(ภาษาสิงหลเรียกว่าดอกอะละริยะ)


อีตาไกด์เสื้อแดงท้องถิ่นก็พาเราเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆครับ สูงเหมือนกัน ทั้งหมดมี 1840  ขั้นไปสักระยะไกด์ท้องถิ่นก็ชี้ให้พวกเราเดินลัดไปในพุ่มไม้ข้างทางเพราะเป็นทางลัด ถ้าขึ้นบันไดไปอีกก็อีกไกล พวกเราเลยเดิมตามไกด์ท้องถิ่นไป จุดแรกที่ไกด์ท้องถิ่นพาเรามาดูคือที่สรงน้ำพระครับ จะมีอ่างเก็บน้ำอยู่ด้านบน และจะมีน้ำออกมาจากปากของรูปปั้นสิงโตนี้ครับ เรียกว่าสระสิงห์หรือ Sinha Pokuna)


สักพักก็พาเราเดินขึ้นภูเขามาอีกกด้านหนึ่ง มาชมเจดีย์แห่งนี้เรียกว่ากัณฐกเจดีย์ (Kantaka Cetiya) 
เป็นศิลปะเลียนแบบมาจากอินเดียแต่ดัดแปลงเป็นเอกลักษณ์ของลังกา งดงามด้วยปฏิมากรรมผสมผสานเข้ากับแนวคิดของฮินดูอย่างลงตัว 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 107

สักพักไกด์ท้องถิ่นก็พาพวกเรามาดูถ้ำต่างๆที่สมัยก่อนใช้เป็นที่วิปัสนากรรมฐานของพระสงฆ์ครับ แต่ในหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 108   บอกว่าเป็นมิหินทุคูหา (Mihinduguhawa) เป็นถ้ำที่พระมหินทเถระ เข้ามาพักอาศัยปลีกวิเวก เข้าใจว่าภายหลังก็ต้องเป็นที่วิปัสนากรรมฐานของพระสงฆ์ตามที่ไกด์ท้องถิ่นบอกนั่นแหละครับ

มิหินตะเลอยู่นอกเมืองเก่าอนุราธปุระไปทางทิศตะวันออก 20 กิโเมตร เป็นบุณยเขตสำคัญสูงสุดแห่งหนึ่งของลังกา เหตุเพราะเป็นสถานที่แห่งแรกที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานบนผืนเกาะลังกา โดยพระสมณทูตมหินทเถระผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งภารตะประเทศ สมัยต่อมาอารามแห่งนี้ก่อเกิดพัมนาการเป็นวัดป่าอรัญวาสีมีพระสงฆ์จำพรรษาประมาณ 2000 รูป ถือว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งของลังกา ทุกวันเพ็ญเดือนเจ็ดของทุกปี ชาวพุทธลังกาจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมุ่งหน้ามามิหินตะเลแห่งนี้เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการของพระมหินทเถระเรียกกันว่า วันโปสอนบูชา (Poson Puja Day) 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 106-107


ตรงนี้ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า เป็นที่บดยาของพระสงฆ์ครับ 

ประวัติพระมหินทเถระ (Mahinda Thera)
พระมหินทเถระเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช จอมจักรพรรดิแห่งอินเดียประเทศ และพระนางเวทิสาเทวี บุตรีแห่งมหาเศรษฐีชาวแคว้นอวันตี ครั้นเจริญพระชนม์พรรษาได้บรรพชาอุปสมบทภายใต้การดูแลของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระเถราจารย์นักปราชญ์ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์สังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3 ณ เมืองปาฏลีบุตร ต่อมาได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์และพระราชบิดาให้เป็นสมณทูตนำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผยแพร่แลประดิษฐานที่ลังกาทวีป คราวนั้นท่านเดินทางมาพร้อมกับเพื่อนพรหมจารีหลายรูป กล่าวคือ พระอุฏฏิยเถระ พระอุตตรเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ สุมนสามเณร(พระราชโอรสของพระนางสังฆมิตตา) และบัณฑุกอุบาสก ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ (พ.ศ. 293 - 333) กษัตริย์ลังกาที่มิหินตะเล 
ครั้นสนทนาแสดงธรรมโปรดแล้วกษัตริย์ลังกาพร้อมบริวารประกาศตนเป็นอุบาสกยอมรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ครั้นต่อมาภายหลังได้รับมอบมหาเมฆวันอุทยานภายในกำแพงพระนครด้านทิศใต้เป็นเขตสังฆาวาส จึงก่อร่างสร้างเป็นอารามแห่งแรกในลังกาชื่อว่ามหาวิหาร ซึ่งภายหลังต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทสืบแทนชมพูทวีป หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าพระมหินทเถระนำพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถามาลังด้วยในรูปแบบของมุขวิธี (จดจำสืบต่อด้วยการท่องจำ) กล่าวกันว่าเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่ 1 ณ ถูปารามเจดีย์ คัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายได้แปลเป็นภาษาสิงหล เรียกกันว่าสีหลมหาอรรถกถา คัมภีร์เหล่านี้เป็นที่รู้จักของชาวโลกเมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ปริวรรตจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ครั้นล่วงกาลผ่านมาพระมหินทเถระเข้าสู่ภาวะนิพพาน อัฐิธาตุของท่านได้บรรจุไว้ภายในมหาแสยเจดีย์บนเขามิหินตะเล กล่าวตามความจริง บรรดาคณะสมณทูตเดินทางออกไปประกาศพระศาสนาคราหลังสังคายนาครั้งที่ 3 คณะสมณทูตที่มาลังกาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 127-128


ไกด์ท้องถิ่นนำเราเดินผ่านถ้ำโน้นถ้ำนี้หลายถ้ำมาก ชี้ให้ดูด้วยว่าที่เขาบากหินเป็นร่องแนวนั้น เพื่อไม่ให้น้ำฝนหยดลงไปในถ้ำ ถ้าบากร่องแบบนี้แล้วน้ำฝนจะหล่นลงพื้นเลย ไม่ไหลเข้ามาในถ้ำ


แล้วก็ผ่านตรงนี้อีกที ตรงนี้น่ากลัวมากเพราะไม่มีอะไรจับเลย ข้างล่างเป็นหน้าผาด้วย แต่ไกด์ท้องถิ่นก็นำพวกเราไปก่อน และคอยจับพวกเราทุกคนให้เดินข้ามไปอย่างปลอดภัย


จากถ้ำมุมนี้เราสามรถมองย้อนขึ้นไปจะมองเห็น มหาแสยเจดีย์ด้วยครับ

สักพักไกด์ท้องถิ่นก็พาพวกเราเดินกลับมาทางกัณฐกเจดีย์ (Kantaka Cetiya) อีกรอบครับ ตรงนี้มีลิงเจ้าจ๋อเยอะมากๆครับ พี่ทิพย์ซื้อไอศกรีมมากินอันหนึ่งกินได้นิดเดียวมันแย่งไปกินหมดเลยครับ


สักพักไกด์ท้องถิ่นพาเราเดินขึ้นมาถึงหอฉันครับ (Dana Salava) อดีตบูรพกษัตริย์สร้างไว้เพื่อให้พอเพียงแก่พระสงฆ์ผู้พำนักอาศัยบริเวณมิหินตะเลประมาณ 2000 รูป


ที่หอฉันตรงนี้คือเรือข้าวศิลาขนาดใหญ่ ไกด์เสื้อแดงในรูปนี่ล่ะครับ บอกว่าเวลาทำให้อาหารร้อนอยู่ตลอดเวลาต้องใส่น้ำร้อนไว้ข้างล่างแล้วก็เอาแผ่นตะแกรงมาวางแล้วก็ปูทับด้วยใบกล้วย แล้วก็ใส่อาหารไว้ข้างบนอีกที ข้างจึงอุ่นอยู่ตลอดเวลาครับ 


ขึ้นมาอีกชั้นตรงนี้ จะต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 500 รูปีครับ ตรงนี้เป็นลานกว้างๆ และเจดีย์ที่เห็นในภาพเรียกชื่อว่าอัมพัสถลเจดีย์ (Ambasthala Cetiya) เชื่อว่าเป็นสถานที่แรกที่พบกันครั้งแรกระหว่างพระมหินทเถระกับพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ  (พ.ศ. 293 - 333) เจดีย์มีลักษณะเหมือนรูปไข่ทรวดทรงกะทัดรัด ส่วนเสาหินโดยรอบคือเสาค้ำยันหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องเรียกว่า วฏทาเค (Vatadage) สร้างสมัยพระเจ้ามหาทาฏิกมหานาคะ (พ.ศ.550 - 562) ภายในประดิษฐานพระอัฐิธาตุและพระอังคารของพระมหินทเถระ ส่วนรูปปั้นศิลาด้านหน้าสันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ถัดมาเป็นซุ้มรูปหล่อพระมหินทเถระ มอบถวายโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 107-108


อีกมุมหนึ่งจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาว เป็นพระพุทธปฏิมาปางประทานพร น่าเลื่อมใสศรัทธามากครับ แบ็คกราวน์องค์พระคือท้องฟ้านะครับ อย่าเข้าใจผิด มันครึ้มฝนเล็กน้อยครับตอนถ่ายรูปนี้


ถ้ายังไม่เหนื่อยก็ให้เดินขึ้นมาที่โขดหินอาราธนานะครับ (Aradhanagala) (หรือเรียกอีกชื่อว่า สุมนคะละ) ตั้งอยู่ด้านหลังอัมพัสถลเจดีย์ กล่าวกันว่าก่อนแสดงธรรมเทศนาโปรดกษัตริย์ลังกาและข้าราชบริพาร พระมหินทเถระแนะนำให้สุมนสามเณรอรหันต์ขึ้นไปป่าวประกาศให้ทวยเทพเทวดามาฟังธรรม


ทางขึ้นก่อนถึงยอดจะค่อนข้างชันนะครับ แต่มีการสลักหินให้เป็นขึ้นบันไดเล็กๆเอาไว้ครับ


ขึ้นไปข้างบนแล้วจะเห็นวิวงดงามมากๆครับ มองลงมาเห็นพระพุทธรูปปางปรทานพรเมื่อกี้ครับ 


และก็อีกด้านหนึ่งของภูเขาจะเห็นมหาแสยเจดีย์ (Mahaseya Cetiya) ยามพระอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้า กับลมเย็นๆ สบายใจมากครับ ขึ้นมาถึงตรงนี้แล้ว หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งที่เราเดินตากแดดถ่ายรูปตะลอนๆมาทั้งวัน  ที่มหาแสยเจดีย์แห่งนี้เชื่อกันว่าเป็นสถานที่พระมหินทเถระย่างเหยียบผืนเกาะลังกาเป็นครั้งแรก ต่อมากลายเป็นหนึ่งในโสฬสบุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวลังกา ภายในประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและพระอัฐิธาตุของพระมหินทเถระเจ้า มีความสูงวัดได้ 15 เมตร วัดขนาดโดยรอบ 41 เมตร หากมองขึ้นฟ้าจะเห็นเมฆาเลื่อนลอย ประดุจพระเจดีย์เคลื่อนตัวบนนภากาศบริเวณลานรอบพระเจดีย์เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด เพราะสามารถมองเห็นตัวเมืองเก่าอนุราธปุระและบริเวณโดยรอบ (แต่ตรงนี้พวกผมไม่ได้ขึ้นไปครับ มองห่างๆเฉยๆ จากโขดหินอาราธนา (สุมนคะละ)
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 108

บทสวดบูชามหาแสยเจดีย์ 

มะหาทะโย  เทวะคะณะเณจะ  นาเค
นุสาสะยี  ยัตถะ  ธีโต มุนินโท
สัทธัมมะ เหมัฏฐะ  ภาสะมานัง
วันเท  สิสา  เจติยะ  สัมพุทธัง ตัง ฯ

พวกมนุษย์เหล่าเทวาและนาคาทั้งหลายทั้งปวง เข้าไปหาพระเถระจอมปราชญ์ผู้แสดงพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอวันทามหาแสยเจดีย์อันเป็นสักขีพยานแห่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล ฯ

คัดลอกบทสวดบูชามาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 18



ลงมาข้างล่างก็ค่ำพอดี ที่อัมพัสถลเจดีย์


ไกด์ท้องถิ่นบอกว่าที่อาคารด้านหลัง มีที่เก็บพระอัฐิของพระมหินทเถระอีกที่หนึ่ง ก็เลยบอกเจ้าอาวาสในวัดให้มาเปิดประตูให้พวกเราทำบุญครับ


นำปัจจัยมาทำบุญใส่ถาดอย่างนี้ครับ ให้ไกด์มาจับอนุโมทนาด้วย 


หลังจากนั้นก็ลงมาข้างล่าง ให้ทิปไกด์ท้องถิ่นไปรวมทั้งหมด 2000 รูปี ให้เยอะเพราะแกอธิบายดีมาก หลายอย่างเลย แต่ที่เอาหนังสือมาอ้างอิงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องขึ้นนะครับ เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยความประทับใจ ผมเลยให้ทิปเงินไทยไปอีก 100 บาท พี่สุรชัยก็แอบให้อีก 100 บาท ไกด์ท้องถิ่นยิ้มกลับบ้านไปเลยครับ หลังจากนั้นโชเฟอร์ก็พาพวกเรากลับโรงแรม Panorama Rest Hotel ครับ ภาพบนถือโฉมหน้าของโชเฟอร์ที่พาเราทัวร์ทั้งวัน ถ่ายคู่กับลุงเสริม ผมจำชื่อแกไม่ได้แล้วครับ แต่ขากลับก็แอบให้แกเพิ่มอีก 5 ดอลล่าร์ เพราะสงสารแก รอเรานานทั้งวัน ทั้งๆที่แกรับเหนาะๆไปแล้ว 16000 รูปี (ประมาณ 4000 บาท เฉลี่ยค่าทัวร์วันนี้ตกคนละ 1000 บาทเลยทีเดียวครับ หวานหมูตาลุงคนนี้ไปเลยครับ แต่ก็คิดว่าแกคงไม่ได้เต็มหรอกเพราะลุงโชเฟอร์แกสังกัดบริษัทครับ น่าจะได้แค่ค่าเที่ยวนะผมว่า แต่ผมคิดว่าถ้าใครไปเที่ยวและเช่ารถไปทัวร์แบบผมอย่างนี้ ลองต่อรองราคาให้ถูกกว่านี้ก็ได้ อันนี้ราคาที่จ่ายไปผมไม่ได้ต่อเลยครับ เพราะว่าทัวร์บ้านผมที่เกาะสมุยแพงกว่าที่นี่เยอะครับ จริงๆ ก็เลยรับได้กับราคานี้) 


อ่านบทความก่อนหน้า วันที่ 1 เดินทางจากกรุงเทพฯ - โคลอมโบ - อนุราธปุระ