รีวิวการเดินทางท่องเที่ยวประเทศศรีลังกา เที่ยวศรีลังกาด้วยตัวเอง ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวศรีลังกา

รีวิวการเดินทางท่องเที่ยวประเทศศรีลังกา  เที่ยวศรีลังกาด้วยตัวเอง ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวศรีลังกา
Sri Lanka Trip Review รีวิวทริป เที่ยวประเทศ ศรีลังกา

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันที่ 3 เดินทางจากเมืองอนุราธปุระไปเมืองโปโลนนารุวะ ชมอุทยานประวัติศาสตร์โปโลนนารุวะ

สวัสดียามเช้าครับ วันนี้เป็นวันที่ 3 ของการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศศรีลังกาครับ เป็นวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2555 ครับ โดยในวันนี้แผนการเดินทางของพวกเราก็คือการเดินทางไปเมืองโปโลนนารุวะ หรือ โปโฬนนารุวะ (Polonnaruwa) ครับ สอบถามจากโรงแรมรถเที่ยวแรกที่ไปโปโฬนนารุวะมีตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง แต่พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะไปเร็วขนาดนั้น เลยตั้งใจจะไปรถบัสเที่ยวเวลา 8 โมงครึ่งครับ เช็คเอาท์เคลียร์บิลตอน 7 โมงครึ่งตามเวลาท้องถิ่นครับ


ถ่ายรูปเป็นที่ระทึกกับเจ้าหน้าที่ของโรงแรมครับ ลุงที่ใส่โสร่งสีฟ้าที่ยืนติดกับลุงเสริมคอยเทคแคร์เราตลอดครับ น่ารักมาก ก่อนกลับแกบอกว่าให้ผมช่วยเขียนรีวิวบอกสิ่งดีๆ ในอโกด้าให้หน่อย แขกจะได้มาเยอะๆครับ ผมเลยบอกว่า แน่นอนอยู่แล้วครับ บริการดีขนาดนี้ ข้าวผัดก็อร่อยสุดๆครับ 

เคลียร์บิลค่าน้ำค่าอาหาร 2 ห้อง แค่พันกว่ารูปีเองครับ ข้าวผัดดูเหมือนจะแพงหน่อย 800 รูปี แต่เฉลี่ยแล้ว คนละ 200 รูปี ก็ตกคนละ 50 บาท กินซะจนพุงกาง แถมอร่อยอีกต่างหาก จริงๆนะครับ 


ลุงใส่โสร่งสีฟ้าเมื่อกี้เรียกตุ๊กๆมาให้พวกเรา 2 คัน คิดคันละ 200 รูปีครับ (คันละ50 บาท)


นั่งมาไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงสถานีขนส่งเมืองอนุราธปุระครับ มีรถบัสจอดอยู่หลายสายมาก ขอบอกว่าสภาพบ้านนอกมากๆๆครับ 555 ดินแดงเกรอะกรัง แฉะมากๆ ขนส่งต่างจังหวัดบ้านเรายังดูไฮโซกว่าอีกนะเนี่ย พี่แว่นจอดให้เราตรงนี้เราถามว่าไปโปโฬนนารุวะใช่หรือไม่ เพราะป้ายหน้ารถมีแต่ภาษาสิงหล ไม่สามารถอ่านออกได้ครับ พี่แว่นก็บอกว่าใช่ครับ มาส่งเสร็จ ลุงเสริมก็ขอถ่ายรูปกับพี่แว่นโชโชเฟอร์ตุ๊กๆของเราครับ 


รถบัสคันนี้แหละครับ ที่จะพาเราเดินทางจากอนุราธปุระไปโปโฬนนารุวะ สอบถามกระเป๋ารถบัสนี้แกบอกว่าเที่ยวถัดไปที่รถบัสนี้จะออกคือ 8 โมงครึ่ง แต่พี่ทิพย์เพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่าลืมโทรศัพท์มือถือไว้ใต้หมอนที่โรงแรม Panorama Rest Hotel ก็เลยเหมาตุ๊กๆ พี่แว่นกลับไปเอาโทรศัพท์อีกแต่พี่สุรชัยอาสาไปเอาให้คนเดียว พี่แว่นคิดแค่อีก 200 รูปีครับ (นึกว่าคิดไปกลับ 400 รูปีซะอีก) ส่วนพวกผมก็รออยู่นอกรถ เผื่อว่าพี่สุรชัยจะกลับมาไม่ทันรถจะออกซะก่อน ก็เลยเดินไปซื้อขนมปังถุงใหญ่เป็นเสบียง 170 รูปี กับขนมทอดที่ข้างในใส่ไส้ไข่ไก้ต้มครึ่งซีกและเครื่องเทศ ชิ้นละ 35 รูปี ซื้อมา 4 ชิ้น 140 รูปี (อันนี้อร่อยครับ คอนเฟิร์ม หรือเริ่มชินกับอาหารที่มีเครื่องเทศแล้วก็ไม่รู้ครับ) 


พี่สุรชัยกลับมาเกือบ 8 โมงครึ่งแล้วครับ พวกเราก็ยกสัมภาระขึ้นไปบนรถและจับจองที่นั่งด้านหน้าๆเพราะจะได้ลงง่ายๆ ถ้าถึงแล้ว มียายคนนี้ขึ้นมาเวลาไล่เลี่ยกับเรา รถโล่งมาก ก็เลยไปถ่ายรูปกับยายเป็นที่ระทึก ยายให้ลูก "ดีวูล" มาให้พวกเราสามลูก (เพิ่งมาถึงบางอ้อว่ามันคือ มะขวิด บ้านเราครับ แต่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนครับ เพิ่งรู้เหมือนกัน แต่ผมว่ากลิ่นมันไม่น่าพิศมัยเลยครับ แต่ก็เก็บเอาไว้ กลัวคุณยายเสียน้ำใจครับ เห็นความน่ารักของคนศรีลังกายังล่ะครับ 


สักพักผู้โดยสารคนอื่นๆก็เริ่มทะยอยขึ้นมา เลยเวลา 8 โมงครึ่งไปแล้วปรากฏว่ารถบัสคันนี้ก็ยังไม่ออกครับ ตาลุงคนนี้ก็มาขายขนมอะไรก็ไม่รู้ปั้นเป็นก้อนกลมๆแล้วทอด กินกับพริกเผาหรือพริกทอดก็ไม่รู้ ซื้อมาลองกินแค่ 20 รูปี แกก็ให้มา 5 อัน ปรากฏว่าอร่อยครับ รสชาติเหมือนถั่วปากอ้าเลยครับ กรอบๆ มันๆ แต่ไม่กินพริกครับ ท่าทางจะเผ็ด ลุงเสริมติดใจจะกินอีก แต่ลุงแกไปซะแล้ว 

รถบัสออกเวลาประมาณ เกือบ 9 โมงแล้วครับ คนก็ขึ้นจนเต็มคัน และมีรับคนเรื่อยๆตามรายทางจนมีผู้โดยสารที่ขึ้นทีหลังต้องยืนด้วยครับ นั่งไปเกือบครึ่งชั่วโมงกระเป๋าบัสก็เริ่มเก็บเงินผู้โดยสารครับ ไปโปโฬนนารุวะ ค่าโดยสารคนละ 143 รูปีครับ (ประมาณ 35 บาทนิดๆครับ) ค่าโดยสารถูกมาก นั่งซะจนคุ้มครับ 3 ชั่วโมงเต็ม ช่วงแรกก็โชเฟอร์ก็ขับช้าๆเพราะยังอยู่ในเขตเมือง และต้องรับผู้โดยสารรายทาง แต่พอออกนอกเมืองถนนโล่งๆ โชเฟอร์ก็ขับเร็วเหมือนกันครับ 


บางช่วงถนนก็ปิดซ่อมเหลือวิ่งแค่เลนเดียว ต้องจอดรอรถอีกฝั่งหนึ่งสวนมาอย่างนี้ครับ 


รถวิ่งมา 2 ชั่วโมงแล้ว โชเฟอร์ก็จอดพักประมาณ 10 นาที ที่ร้านนี้ครับ ให้เข้าห้องน้ำและซื้อขนมหรือน้ำครับ เราก็ลงไปฉี่ เพราะกินน้ำมาเยอะตอนกินขนม 


แล้วก็ได้ไมโลมากินคนละกล่อง ราคากล่องละ 40 รูปี (10 บาท ครับ) แต่เป็นแบบกล่องแบนๆ ปริมาตรไม่เยอะครับ ไม่เหมือนบ้านเรากล่องเป็นทรงสี่เหลี่ยม


ถนนหนทางช่วงหลังๆจะเป็นภูเขาขึ้นลงขึ้นลง และเขตอุทยานแห่งชาติครับ มีแต่ป่า ไม่มีบ้านคน บางช่วงมีป้ายขับช้าๆ ระวังตัวเงินตัวทองข้ามถนน ซึ่งเราก็เห็นจริงๆครับ มันอยู่ข้างถนนแต่ไม่ได้ข้ามถนน  บางทีมันก็มาวิ่งบนถนน รถก็หลีกให้พวกมันครับ 


รถบัสวิ่งมาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่่งก็จะถึงทะเลสาบใหญ่แห่งนี้ครับ ถ่ายไม่ทัน ตรงทะเลสาบจะมีองค์พระใหญ่ยืนตระหง่านอยู่ด้วยครับ เสียดายจริงๆผมถ่ายไม่ทัน 


จากทะเลสาบใหญ่ที่มีพระใหญ่อีกประมาณครึ่งชั่วโมงถัดมา เราก็มาถึงตัวเมืองโปโฬนนารุวะครับ คนขับรถบัสบอกให้พวกเราลงตรงป้ายรถเมล์ในเมืองตรง 4 แยก เพราะรถจะไปจอดที่ท่ารถไกลไปอีก เราก็เลยลงจากรถบัส พอลงรถปุ๊บก็มีโชเฟอร์ตุ๊กๆรออยู่แล้วครับหลายคนเลย ไปโรงแรมที่เราจองเอาไว้แล้วกับอโกด้าที่ Rock Cascade Homestay ครับ ตกลงราคาคันละ 200 รูปีครับ (50 บาท) แต่เพิ่งมารู้ว่าจากสี่แยกเข้าโรงแรม Rock Cascade Homestay ที่เราจองเอาไว้นั้นใกล้มาก แต่ก็ช่างเหอะ 50 บาท เราก็ไม่เคยมาซะหน่อย ดีกว่าเดินแบกกระเป๋าหาโรงแรมเอง 


เข้ามาข้างในก็จะเป็นโฮทสเตย์แบบนี้ครับ เป็นบ้านหลังหนึ่ง มีห้องให้พักสองห้องครับ มีแค่นี้จริงๆครับ ก็เลยต้องจองห้องหนึ่งเป็นห้องพัดลมซึ่งอยู่ด้านหน้าบ้าน (ห้องนี้พี่สุรชัยบอกว่ายุงเยอะ แต่มีมุ้งให้นะครับ) ส่วนอีกห้องเป็นห้องแอร์ อยู่ในบ้าน ห้องนี้ผมไม่มีปัญหากับยุงเลยครับ


เข้ามาแล้วมีพี่สาวคนนี้มาคอยต้อนรับ เพราะคุณณิชานติ เจ้าของบ้านยังไม่กลับมาจากทำงานที่ธนาคาร พี่สาวคนนี้เอาน้ำส้มเวลคัมดริ๊งค์มาให้พวกเราครับผมจำชื่อแกไม่ได้ คุยอังกฤษได้ไม่เยอะ แต่ก็พยายามสื่อสารกับเราครับ เป็นผู้ช่วยคุณณิชานติอีกทีครับ  สักพักแกก็เอาโทรศัพท์มือถือที่คุณณิชานติโทรมาทักทายพวกเราก่อนที่จะเจอกันตอนเย็นครับ


นี่คือโแมหน้าของสองโชเฟอร์ตุ๊กๆ ที่พาพวกเรามาส่งโรงแรมครับ อยากจะบอกว่าคนใส่เสื้อลายดอกน่ะ ค่อนข้างขี้โม้นิดหนึ่ง ส่วนคนสวมหมวกสีฟ้าคุยดีกว่าเยอะครับ นัดกับพวกเราว่าจะมารับพวกเราอีกทีหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วตอนบ่ายสองตามเวลาท้องถิ่นครับ เพื่อที่จะไปทัวร์ชมเมืองเก่าโปโฬนนารุวะครับ โดยตกลงราคากันเอาไว้คันละ 20 Us Dollar ครับ หรือ 2600 รูปี ประมาณ  650 บาทไทยครับ เป็นทัวร์ที่พาเราไปชมสถานที่เมืองเก่าตลอดทั้งช่วงบ่ายนี้ครับ 


อันนี้เป็นภาพห้องแอร์ที่หลวงไข่พักกับลุงเสริมนะครับ ปู้ยี่ปู้ยำไปนิดหนึ่งแล้ว เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าควรถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระทีกก่อน สภาพเลยออกมาไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ครับ ห้องน้ำก็สะอาดมากครับ มีเครื่องทำน้ำอุ่นเรียบร้อย 


อาบน้ำแต่งตัวกันเสร็จแล้ว ยังเหลือเวลาอีกเยอะก่อนบ่ายสอง ลุงเสริมนึกขึ้นได้ถึงลูก "ดีวูล" ที่คุณยายบนรถบัสให้มา ไม่มีใครรู้ครับว่าตอนนั้นมันคือ "มะขวิด" เพิ่งมาถึงขางอ้อจากท่านผู้รู้ตอนกลับประเทศไทยแล้วครับ พี่สาวผู้ช่วยคุณณิชานติแสดงวิธีปอกมันมากิน ก็ต้องเอามีดอีโต้มาต่อย เหมือนต่อยมะพร้าวเลยครับ แล้วก็เปิดออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้ กลิ่นสุดจะบบรยายครับ ต้องขอบอกว่ากลิ่นเหมือน อจร. มากๆครับ 555 แต่ลุงเสริมกินได้ครับ ออกเปรี้ยวๆ แต่พวกเราสามคนที่เหลือไม่มีใครลองครับ แค่กลิ่นก็ไม่สารถแล้วครับ เจ้าลูกมะขวิดหรือดีวูลนี้ คุณณิชานติบอกพวกเราทีหลังว่าภาษาอังกฤษเรียก Wood Apple ครับ


บ่ายสองตรงตามเวลาท้องถิ่นของศรีลังกา โชเฟอร์ตุ๊กๆสองคนที่เรานัดกันไว้แล้วก็มาตามนัดไม่เลทเลยครับ ก็ได้เวลาออกไปเที่ยวชมเมืองครับ โชเฟอร์พาเราไปที่พิพิทธภัณฑ์ก่อนครับ เพื่อไปซื้อตั๋วค่าเข้าชมเมือง ตั๋วหน้าตาแบบนี้นะครับ มีCD Rom อันเล็กๆข้างในมีข้อมูลบอกความเป็นมาของสถานที่ด้วยครับ ราคาบัตร 25 US Dollars หรือ 3250 รูปีต่อคนครับ ค่าเข้าจะรวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ กัลวิหาร และอุทยานประวัติศาสตร์เมื่องเก่าโปโฬนนารุวะครับ (Polonnaruwa Historical Park)  แต่โชเฟอร์บอกไม่ต้องชมพิพิธภัณฑ์ก็ได้เพราะมันไม่มีอะไร แต่ที่จริงเราควรจะชมนะครับถ้ามีเวลา แต่อีตาโชเฟอร์บอกเดี๋ยวไม่ทัน มันก็บอกให้ไปดูกัลวิหารกับอุทยานประวัิติศาสตร์ก่อนเพราะสำคัญกว่า (มาตอนหลังพิพิธภัณฑ์ปิดไปแล้วครับเลยอดชม ถ้าใครจะไปทัวร์แนะนำให้ออกก่อนบ่ายสองสักครึ่งชั่วโมงนะครับ จะได้มีเวลาเหลือเฟือกับพิพิธภัณฑ์สักครึ่งชั่วโมงก็ยังดีครับ)


ซื้อตั๋วที่หน้าพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วโชเฟอร์ก็พาเราออกไปชมอุทยานประวัติศาสตร์โปโฬนนารุวะเป็นสถานที่แรกครับ ทางเข้าชมจะมีฝูงวานรเต็มไปหมดเลยครับ บางทีก็ออกมาวิ่งเล่นกันบนถนน ผมเอาขนมปังเขวี้ยงไปให้ข้างทางมันก็รับด้วยความชำนาญอย่างน่าทึ่งมากๆครับ


โชเฟอร์ชี้ให้ดูรังเหยี่ยวด้วยครับ อยู่บ้านต้นไม้ สูงเชียว รังใหญ่สมตัวเหยี่ยวล่ะครับ


สถานที่แรกที่สองโชเฟอร์พาพวกเรามาชมคือส่วนของท้องพระโรง ( Council Chamber) ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน (The Citadel)  ที่เห็นในรูปนี้คืออัฒจันทร์ศิลาครับ (Moon Stone)  ตรงหน้าทางขึ้นของท้องพระโรงครับผม


รูปนี้คือท้องพระโรงครับผม (Council Chamber) มีนามปรากฏว่าราชเวศยาภูชังคมณฑล เป็นอาคารขนาดปานกลาง ใช้เสาศิลาเป็นตัวค้ำ มีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นสถานที่ออกว่าราชการสำหรับขุนนางผู้ใหญ่ อาคารโดยรอบสลักเสลาด้วยลายปูนปั้นอ่อนช้อยงดงาม เริ่มต้นที่ฐานชั้นแรกสลักเป็นหัวช้าง ชั้นสองสลักเป็นรูปสิงห์ และชั้นสามสลักเป็นรูปคนแคระ สำหรับบันไดทางขึ้นลงสลักด้วยลายปูนปั้นสวยงามเช่นเดียวกัน โดยสลักเป็นรูปสิงห์ลอยตวนั่งเฝ้าบันไดทักทายแขกผู้มาเยื่อนตามราวบันไดเป็นตัวมังกรคายลิ้นยาวเฟื้อย ส่วนด้านข้างบันไดสลักเป็นรูปสิงห์ยิ้มอย่างมีความสุขจ้องมองอาคันตุกะผ่านไปมา นอกนั้นเป็นรูปช้างและเทวดา ทำหน้าที่เป็นทวารบาลรักษาท้องพระโรง 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 186


ฝั่งตรงข้ามท้องพระโรงจะเห็นไวชยันตปราสาท (Palace of King Parakramabahu) ครับผม แต่ตอนที่พวกผมไปเป็นตอนบ่าย ภาพส่วนใหญ่ถ่ายย้อนแสงหมดเลยครับ อันนี้รูปผมแต่งมาแล้วดีสุดได้แค่นี้ครับ หรือถ้าใครไปถึงช่วงเช้า ชมอุทยานประวัติศาตร์ตอนเช้าผมว่ารูปน่าจะสวยกว่านี้ครับ 


เข้ามาด้านใน ถ่ายย้อนกลับไปด้านหน้าจะเป็นแบบนี้ครับ ตามหลักฐานตามคัมภีร์ยืนยันว่าปราสาทหลังนี้พระเจ้าปรากรมพาหุโปรดให้สร้างเป็นอาคารสูงถึง 7 ชั้น มีบันไดเวียนขึ้นโดยรอบจนถึงขั้นสูงสุด ภายในใช้เสาไม้ขนาดใหญ่เป็นตัวค้ำยันน้ำหนักของอาคาร ตามฝาผนังเดิมน่าจะมีภาพวาดเกี่ยวกับพระราชภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฏร์ส่วนอาคารรอบนอกเป็นที่พักของเหล่าสนมและนางกำนัล ถัดออกไปรอบนอกสุดเป็นที่อยู่ของชาววิเสท เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อของสอดคล้องกับที่อยู่ของท้าวสักกะแห่งชั้นไตรตรึงษ์ หลักฐานส่วนนี้อาจบ่งชี้ว่าพระเจ้าปรากรมพาหุประพฤติวัตรดังเทวราชา มิใช่พุทธราชาดังนักวิชาการบางท่านกล่าวอ้าง 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 185



ภาพนี้เป็นวิวจากด้านหลังของไวชยันตปราสาทครับ 


เข้าไปด้านในปราสาท มีอยู่มุมหนึ่งจะเป็นบันไดขึ้นชั้นบนตรงนี้ครับ


ถัดมาคือคือศิวเทวาลัยหมายเลข1 (Sila Devalaya No.1) ถัดจากพระราชฐานชั้นในใกล้วัดพระเขี้ยวแก้ว เป็นเทวาลัยสำหรับพระศิวเจ้า สร้างโดยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 สำหรับสักการะเซ่นไหว้ของขุนนางผู้ใหญ่ชาวทมิฬอินเดีย โครงสร้างทั้งหมดเป็นศิลปะแบบอินเดียตอนใต้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้พระเจ้าวิชัยพาหุจะกอบกู้บ้านเมืองและฟื้นฟูการพระศาสนาเรียบร้อยแล้ว แต่ทรงให้ความเสมอภาคกับลัทธิฮินดูอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าชาวทมิฬฮินดูผู้บุกรุกยังหลงเหลือตกค้างอยู่บนเกาะลังกาเป็นจำนวนมาก การประนีประนอมทางจารีตปฏิบัติจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด สมัยต่อมาคณะสำรวจโบราณคดีได้ทำการขุดค้นเทวาลัยแห่งนี้ ได้พบเทวรูปทองเหลืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบฮินดูตอนใต้  ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิทธภัณฑ์สถานแห่งชาติโปโฬนนารุวะ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 187


เข้ามาข้างในศิวเทวาลัย จะเจอกับศิวลึงค์นะครับ มีร่องรอยคนเอามะพร้าวหรืออะไรสักอย่างมาทำพิธีด้วย 


เสาและผนังของศิวเทวาลัย มีหลายเลขกำกับหินแต่ละก้อนด้วย  ทุกอย่างเป็นหินครับ หลังคาก็หิน เดินเข้าไปชวนให้นึกว่ามันจะหล่นมาใส่หัวหรือเปล่า อิๆๆ แต่คงไม่หล่นหรอกครับ เขาบูรณใหม่โครงสร้างแข็งแรงแน่นอน 


ถัดมาจะเป็นบริเวณของวัดพระเขี้ยวแก้ว (The Tooth Relic Quadrangle) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก พระเจ้าวิชัยพาหุโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว และบาตรของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ต่อมามีการสร้างอาคารขึ้นใหม่หลายหลังโดยพระเจ้าปรากรมพาหุและพระเจ้านิสสังกมัลละ บริเวณโดยรอบเป็นลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าเพียงสองด้าน กล่าวคือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ประตูทางเข้าทำเป็นอาคารขนาดเล็กหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เปลี่ยนเครื่องทรงของกษัตริย์ก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและบำเพ็ญพระราชพิธี 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 191


ภายในวัดพระเขี้ยวแก้วจะเจออาคารหลังนี้สูงเด่นที่สุดครับ เรียกว่าถูปาราม (Thuparamaya) 
ถูปารามเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง สร้างโดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช มีพระพุทธปฏิมาปางประทับนั่งเป็นประธานประดิษฐานตรงกลาง ส่วนทั้งสองข้างเป็นพระพุทธปฏิมาปางประทับยืน สันนิษฐานว่าตามฝาผนังมึภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก เล่าลือกันว่าพระพุทธปฏิมาองค์ประธานมีพระนลาฏและพระเนตรประดับด้วยเพชร เม็ดขนาดใหญ่ ยามต้องแสงพระสุรีย์ที่สาดส่องลอดช่องด้านบนพระวิหาร จะเปล่งประกายต้ององค์พระพุทธปฏิมาโดยรอบ เกิดประกายระยิบระยับน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก (ผมไม่ได้สังเกตเลยนะครับ ว่ายังมีเพชรอยู่หรือเปล่า เพิ่งมาอ่านหนังสือทีหลังแล้ว แต่ไม่น่าจะมีแล้วเพราะองพระปฏิมาเก่าแล้วครับ)
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 195


พี่สุรชัยกำลังก้มกราบพระปฏิมา องค์ยืนอยู่ครับ เพิ่งเห็นว่ามีมือใครโผล่มาด้วยในรูป รู้สึกว่าจะเป็นมือของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานที่ในนั้น 


อีกมุมหนึ่งด้านซ้ายมือเราก็จะมีพระพุทปฏิมานั่งและยืนด้วยครับ 


ภาพนี้มีพี่สุรชัย ลุงเสริม และเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ถูปารามแห่งนี้ครับ ด้านหลังของคนในภาพก็คือทางเข้าของถูปารามนะครับ ถ่ายย้อนออกไปจากข้่างใน


อาคารถัดมาซึ่งถือว่าเด่นและสวยงามที่สุดของวัดพระเขี้ยวแก้วแห่งนี้คือ วฏทาเค ครับผม (Vatadage) เป็นวิหารทรงกลมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของศรีลังกา ลักษณะเป็นวิหารทรงกลมมีเสาหินค้ำยันหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง สร้างโดยพระเจ้านิสสังกมัลละ


จุดน่าสนใจเริ่มต้นจากพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานด้านหน้าเจดีย์ทั้งสี่ทิศ สังเกตว่าพระพุทธรูปครองจีวรเรียบไม่มีริ้วและบนพระเกศาไม่มีขมวดเป็นทักษิณาวรรต



ถัดมารอบนอกเป็นศิลาอารักษ์ (Guardstone) นักวิชาการชาวศรีลังกายอมรับว่าศิลาอารักษ์แห่งนี้สมบูรณ์สวยงามกว่าที่อื่นใดในเมืองเก่าโปโฬนนารุวะ 


แถมอีกรูปครับ ถ่ายให้เห็นอีกมุมหนึ่งของวฏทาเค (Vatadage) ครับผม 


ส่วนอัฒจันทร์ศิลา Moonstone) เริ่มมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปร่างมากขึ้น สังเกตได้จากเดิมสมัยอนุราธปุระ รูปสลักลายสัตว์สี่ชนิดจะอยู่ในกรอบเดียวกันสมัยนี้แยกสัตว์แต่ละชนิดเป็นเอกเทศ ส่วนพิเศษแตกต่างจากของเดิมคือ รูปสลักโคหายไป เชื่อกันว่าผู้ออกแบบรังเกียจที่จะสลักรูปโค อันเนื่องมาจากว่าเป็นพาหนะของพระศิวะเจ้า จุดนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของลัทธิฮินดู เคียงคู่พุทธศาสนาสมัยอาณาจักรโปโฬนนารุวะ
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 193


ต่อมาที่ตั้งอยู่ตรงข่ามกับวฏทาเค คือ แฮฏทาเค ครับผม (Hatadage) ถ่ายมาจากหัวบันไดของวฏทาเค


แฮฏทาเค (Hatadage) เป็นอาคารก่อด้วยศิลา 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางประทับนั่งและประทับยืน ส่วนชั้นบนประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วและบาตรของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าชั้นบนน่าจะเป็นเครื่องไม้หลังคามุงกระเบื้อง หากสอดส่องตามระเบียงโดยรอบมีลวดวายให้สังเกตหลายจุด โดยเฉพาะบนผนังมุขด้านหน้า มีจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้านิสสังกมัลละ นอกจากนั้นมีแนวหงส์สลักอยู่ด้วย กล่าวกันว่าพระเจ้านิสสังกมัลละโปรดให้สร้างวิหารหลังนี้โดยใช้ระยะเวลา 7 เดือน บางแห่งแจ้งว่าเป็นศาสนสถานแห่งที่ 7 ที่พระองค์สร้างถวายเป็นพุทธบูชารอบเกาะลังกา 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 192


พระพุทธปฏิมาภายในแฮฏทาเค ครับผม (Hatadage) 


ถัดมาข้างแฮฏทาเค เป็นคัมภีร์ศิลา (Galpota)  เป็นแท่งหินขนาดใหญ่สลักลวดลายสวยงามพร้อมจารึกภาษาสิหลสมัยโบราณเดิมนั้นจารึกศิลาหลักนี้อยู่ที่มิหินตะเล นอกเมื่องเก่าอนุราธปุระ พระเจ้านิสสังกมัลละ โปรดให้ชะลอมาเก็บไว้ที่วัดพระเขี้ยวแก้วแห่งนี้ เนื้อความภายในบรรยายเกี่ยวกับพระเจ้านิสสังกมัลละทรงยาตราทัพเข้าบุกอินเดียตอนใต้ และการส่งคณะราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศแดนไกลดังเช่นปากีสถานและอินโดนีเซีย ลวดลายด้านข้างของคัมภีร์ศิลามีภาพสลักของคชลักษมี มีภาพพระพุทธเจ้าปางประสูติ มีแนวของหงส์ประกอบอยู่ด้วย ถือว่าเป็นจารึกที่ใหญ่ที่สุดในเกาะลังกา 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 191


ถัดมา ด้านข้างคัมภีร์ศิลา จะเป็นสัตตมหาปราสาท (Satmahalprasada) เป็นอาคารทึบก่อด้วยอิฐซ้อนกันขึ้นไป 7 ชั้น แต่ละชั้น มีซุ้มอยู่ตรงกลางทำเป็นรูปปั้นเทวดาอยู่ในท่าตรีภังค์ ส่วนทางขึ้นทำเป็นบันไดเวียนรอบนอบ อาคารรูปทรงเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นคติความเชื่อแบบมหายาน ลักษณะเช่นเดียวกันนี้พบเห็นที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าไทยน่าจะได้รับอิทธิพลไปจากลังกาอีกทอดหนึ่ง 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 191- 192

ตรงกลางระหว่างแฮฏทาเค (Hatadage) กับสัตตมหาปราสาท (Satmahalprasada) คือพระอุโบสถ (Chapter House) นักวิชาการต่างแสดงความเห็นแตกต่างกันออกไป บางท่านเห็นว่าเป็นพระอุโบสภสำหรับพระสงฆ์ทำสังฆกรรม แต่บางท่านเห็นว่าเป็นอาคารหลังหนึ่งเกี่ยวข้องกับแฮฏทาเค ผู้เขียน(หมายถึงลังกากุมาร)เห็นด้วยกับความคิดแบบหลัง อันเนื่องมาจากรูปทรงขนาดเล็กประการหนึ่ง แลตัวอาคารไม่ได้ตั้งอยู่ในจุดที่โดดเด่นเหมือนอาคารหลังอื่น น่าจะเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาเป็นแน่แท้ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 192


เสาหินรูปทรงแปลกๆ ภายในพระอุโบสถ ครับผม (Chapter House) 



อีกด้านหนึ่งจะมีอาคารดูเก่าๆ แบบนี้นะครับ เรียกว่านิสสังกลฏามณฑป (Nissanka Lata Mandapa) เป็นอาคารขนาดเล็กมีเสาลักษณะเหมือนก้านบัว หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง สร้างโดยพระเจ้านิสสังกมัลละ สำหรับประทับสดับตรับฟังพระสงฆ์สวดพระปริตร ส่วนเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กภายในอาคารนี้สำหรับประดิษฐานพระสารีริกธาตุ กล่าวกันว่าสมัยนี้ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการสวดพระปริตรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด และภือเป็นพระราชประเพณีที่กษัตริย์จำต้องจัดงานเป็นประจำทุกปี เพราะมีความเชื่อว่าสามารถกำจัดเสนียดจัญไรทั้งปวงและเสริมดวงชะตาบ้านเมืองให้แข็งแกร่งมั่นคง
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 194


ตรงกลางลานตรงนี้จะเป็นรูปปั้นพระโพธิศัตว์ (Statue of Bhodhisattva) เป็นรูปปั้นศิลาประทับยืนผิพระพักษ์ไปทางวิหารวฏทาเค นักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ บางส่วนเห็นว่าเป็นรูปปั้นของพระไมตรีโพธิสัตว์ แต่บางท่านแย้งว่าเป็นรูปปั้นของพระเจ้าวิชัยพาหุ ผู้เขียน (ลังกากุมาร) เห็นว่าน่าจะเป็นรูปปั้นของพระไมตรีโพธิสัตว์แต่เปลี่ยนนามใหม่ว่าเทพนาถะ อันเนื่องมาจากคติความเชื่อของมหายานเจริญรุ่งเรืองมีอิทธิพลไม่แพเถรวาท(หินยาน) สังเกตได้จากสิ่งก่อสร้างสมัยโปโฬนนารุวะล้วนกลมกลืนกันระหว่างศิลปะมหายานกับเถรวาท ประการต่อมาเทพนาถะองค์นี้เริ่มก่อตัวกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายจนมีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุดสมัยอาณาจักรดัมพเดณิยะ เพียงสองสามทศวรรษหลังจากอาณาจักรโปโฬนนารุวะล่มสลายแล้ว 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 194-195


อาคารต่อมาที่ตั้งอยู่ใกล้กับแฮฏทาเค เรียกว่า อฏทาเค (Atadage) เป็นอาคารขนาดกลางก่อด้วยศิลา 2 ชั้นสร้งโดยพระเจ้าวิชัยพาหุ ชั้นบนประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วและบาตรของพระพุทธเจ้าส่วนชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งและปางประทับยืน สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุโปรดให้บูรณปฏิสงขรณ์ครั้งใหญ่ ครั้นต่อมา พระเจ้านิสสังกมัลละโปรดให้สร้างแฮฏทาเค จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว และบาตรของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ภายในแฮฏทาเควิหารแห่งนี้จึงลดความสำคัญลงไป หากสังเกตโครงสร้างวิหารหลังนี้กับแฮฏทาเค ทำให้เห็นวิวัฒนาการสถาปัตยกรรมของลังกาชัดเจน โดยเฉพาะศิลปะแบบอินเดียตอนใต้เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 193-194


พระพุทธปฏิมา ปางประทับยืนภายในอฏทาเค (Atadage) ครับ 


หลังจากนั้นพวกเราก็นังตุ๊กๆอีกรอบ โชเฟอร์ตุ๊กๆพาเรามาอีกที่หนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระเขี้ยวแก้วเมื่อกี้เท่าไหร่ครับ สถานที่แห่งนี้ก็คือ รังโกฏเวเหระ (Rankotvehera) ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ใหญ่สุดในเมืองเก่าโปโฬนนารุวะ สร้างโดยพระเจ้านิสสังกมัลละ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสิ่งของมีค่าเป็นจำนวนมาก มีความสูงวัดได้ 54 เมตร ฐานโดยรอบวัดได้ 167 เมตร ยอดฉัตรโปรดให้ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ เจดีย์จึงมีนามเรียกขานกันว่า รังโกฏเวเหระ (เจดีย์มียอดฉัตรเป็นทอง) ต่อมากษัตริย์สิงหลอ่อนแอเปิดช่องให้พระเจ้ามาฆะกษัตริย์แห่งแคว้นกาลิงคะยกทัพเข้าตี แล้วรื้อเผาทำลายสิ่งก่อสร้างบรรดามีจนหมดสิ้น ส่วนเจดีย์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2453 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 201


ในแต่ละมุมของเจดีย์รังโกฏเวเหระ จะมีคล้ายๆ ซุ้มแบบนี้อยู่ครับ เข้าไปข้างในเห็นมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆอยู่ข้างในแบบนี้ครับ 


เห็นใหญ่ๆ อลังการแบบนี้พี่สุรชัยก็อดไม่ได้ที่จะต้องสวดมนต์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าครับ ชวนลุงเสริมนั่งด้วย มีชาวศรีลังกาเดินผ่านมา คงจะแปลกใจไม่น้อยที่พวกเรามานั่งสวดมนต์กันอย่างนี้ แต่ก็ปลื้มสุดๆครับที่ได้มาเห็นอะไรที่มันอลังการมากๆแบบนี้ครับ ผมเสียดายที่เพิ่งเห็นในหนังสือว่ามีอีกเจดีย์หนึ่งอยู่บริเวณใกล้กับรังโกฏเวเหระ ชื่อว่า กิริเวเหระครับ ผมไม่รู้ความสำคัญมาก่อนเลยไม่ได้ไปถ่ายรูปเก็บไว้ เสียดายจริงๆ ทำไมไม่อ่านหนังสือไปให้ครบๆก่อนจะไปเที่ยวนะ ในหนังสือบอกว่า กิริเวเหระ (Kirivehera) เป็นเจดีย์ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากรังโกฏเวเหระ สร้างโดยพระนางสุภัทราเทวีพระอัครมเหสีของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช เดิมเรียกขานกันว่ารูปวตีเจดีย์ เหตุเพราะมีทรงงดงามตามเจตนาศรัทธาของผู้สร้าง มีความสูงวัดได้ 24 เมตร ความกว้างโดยรอบ 89 เมตร องค์ระฆังเป็นรูปโอคว่ำ ส่วนบัลลังก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีลายขัดแตะและธรรมจักรประกอบ ต่อมาภายหลังเรียกขานกันว่ากิริเวเหระ หรือเจดีย์น้ำนม เพราะรูปทรงขาวเหมือนหยดแห่งน้ำนม เจดีย์แห่งนี้ เป็นต้นแบบของพระบรมธาตุเจดีย์จังหวัดนครศรีธรรมราช (บ้านหลวงไข่เองครับ แอบภูมิใจเล็กน้อยนี่แหละที่เสียใจว่าไม่ได้ไปถ่ายมา รู้ก่อนหน้าล่ะก็ไปถ่ายมาให้ดูแล้วครับ) ส่วนสถูปขนาดเล็กโดยรอบเจดีย์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 202


หารูปมาให้ดูแล้วครับ กิริเวเหระครับ ก็อปรูปมาจาก http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/38/Kiri_Vihara_02.jpg/800px-Kiri_Vihara_02.jpg


หลังจากนั้นสองโชเฟอร์ตุ๊กๆก็พาพวกเรามาอีกที่หนึ่งครับ เรียกว่า กัลวิหาร (Gal Viharaya) ซึ่งจอดให้เราลงตรงนี้และเดินเข้าไปด้านหลังลุงเสริมในรูปนะครับ มีทางเดินเข้าไปประมาณ 200 เมตร (ต้องขออภัย ที่ไม่มีรูปทางเดินอย่างเดียวมาให้ดู ลืมถ่ายครับอิๆๆ) ก่อนเข้าไปก็มีห้องน้ำตรงลานจอดรถนะครับ เผื่อใครปวดฉี่ ค่าเข้าห้องน้ำ 10 รูปีครับ ( 2 บาทกว่าๆ) ตรงนี้มีบบรดาพ่อค้าแม่ค้ามาตะเวณขายของให้นักท่องเที่ยวเต็มไปหมดครับ พี่ชัยก็ได้พระพุทธรูปมาองค์หนึ่งด้วย งามเชียวครับ เสร็จกิจแล้วก็เดินเข้าวัดกันเลยครับ กัลวิหาร แปลว่าวัดหิน ซึ่งเรียกว่าอุตตมารามหรือวัดเหนือ สร้างโดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช วิรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรโปโฬนนารุระ  คัมภีร์มหาวงศ์บรรยายไว้ว่าพระองค์โปรดให้ระดมช่างฝีมือชั้นเลิศเป็นล้านคนเพื่อสร้างสรรค์งานอันเป็นอมตะ ชั้นเดิมมีเพียงพระพุทธปฏิมา 3 องค์ เป็นเป็น 3 ห้อง (ถ้ำ) ส่วนอีกหนึ่งองค์ เพิ่มขึ้นมาภายหหลังสมัยพระเจ้านิสสังกมัลละ นักวิชาการทั้งหลายต่างยกย่องสรรเสริญว่า งานแกะสลักวัดกัลวิหารแห่งนี้เป็นผลงานชั้นเอกอุเชิงศิลป์ของศรีลังกา เพราะอ่อนช้อยงดงาม เพียบพร้อมด้วยรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว เหมือนมิใช่ฝีมือการสร้างของมนุษย์สามัญ น่าจะเป็นการเนรมิตของเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 206


ถ้ำแรกชื่อว่าวิชชาธรคูหา (Vijjadharaguha) ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางสมาธิ มีความสูง 4 เมตร ประทับนั่งเหนืออาสนะลักษณะคล้ายผ้านิสีทนะ ใต้พุทธอาสน์ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นรู)ราชสีห์อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์แห่งลังกา เหมือนเป็นนัยบอกให้รู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินมีหน้าที่อุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนา ตรงกลางเป็นรูปวัชระอันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของนิกายตันตระ แสดงถึงการตัดอาสวะกิเสลขาดสิ้นด้วยพระปัญญาญาณ ด้านพระปฤษฎางค์ข้างหลังเป็นซุ้มเรียกว่าโตราน ประด้วยรูปมังกรคาบสิงห์ทั้งสองด้าน ชั้นบนมีพระพุทธรูปขนาดเล็กประดิษฐานท่ามกลางวิมานอยู่ในท่าธยาน (Dhayan Mudra) อันเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของนิกายตันตระ ความงดงามของพระพุทธรูปอยู่ที่ความสมส่วนลงตัวงดงามประณีตเหมือนมีพระชนม์ชีพ ส่วนริ้วแห่งพระสุคตจีวรละเอียดอ่อนชดช้อยเสมือนของจริงไร้ข้อตำหนิ
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 206



ถ้ำสองเรียกว่า นิสินนปฏิมาคูหา (Nissinnapatimaguha) ประดิษฐานพระพุทธรู)ปางสมาธิขนาดเล็ก มีความสูงเพียง 2.74 เมตร ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ใต้พุทธอาสน์ประดับตกแต่งด้วยลายรูปปั้นราชสีห์และวัชระเช่นเดียวกับถ้ำแรก พระปฤษฎางค์ด้านหลังเป็นซุ้มโตรานมีรูปมังกรคาบสิงห์สองข้าง มีเทวดายืนถือแส้จามรี อันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ ชั้นบนซ้ายขวาเป็นเทพเจ้าของฮินดูสององค์คือพระพรหมและเทพวิษณุ ถัดมาเป็นพระอินทร์ถือสังข์ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาเถรวาท ส่วนชั้นบนสุดเป็นรูปฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร สันนิษฐานกันว่าเดิมคงมีการระบายสีด้านหลังองค์พระ เพราะบางแห่งยังเหลือหลักฐานให้สังเกต แม้พระพุทธปฏิมาแห่งถ้ำนี้ไม่ใหญ่โตเหมือนถ้ำแรกแต่ก็งดงามสมส่วนละเอียดปราณีตไม่แตกต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใดความจริงที่ซ่อนอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้คือศิลปินต้องการสื่อให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นเทพเหนือเทพ (Devatideva) 
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 207


ถ้ำสามเรียกว่าอุตติตปฎิมาคูหา (Uttitapatimaguha) สร้างขึ้นใหม่สมัยหลังสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสมัยพระเจ้านิสสังกมัลละ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางรำพึง มีความสูง 7 เมตร พระกรทั้งสองข้างประสานเข้ากันระหว่างพระอุทร เรียกว่าท่าปรทุกขทุกขิตา (Paradukkha - dakkhita) หมายถึงทรงพิจารณาเห็นความทุกข์ของเหล่าสรรพสัตว์ และอยู่ในลักษณะท่าตรีภังค์ กล่าวคือโค้งสามส่วน ได้แก่ เข่า สะโพก และไหล่ บางท่านแย้งว่าเป็นพระอานนท์เถระกำลังเศร้าโศกเพราะการปรินิพพานของพระศาสดาเจ้า ผู้เขียน(ลังกากุมาร) เห็นว่าน่าจะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเหตุผลสองประการ กล่าวคือพระเกศาม้วนเป็นทักษิณาวรรตเป็นลักษณะเฉพาะพระพุทธองค์ อีกประการหนึ่งทรงประทับยืนอยู่บนดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ หากเป็นพระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากแล้วไซร้ น่าจะมีลักษณะแตกต่างจากที่กล่าวมา พระพุทธปฏิมาองค์นี้แม้สร้งภายหลังแต่ความแตกต่างแทบหาไม่เจอ ยังคงความละเอียดอ่อนงดงามไม่แพ้กัน
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 207


ถ้ำสุดท้าย คือถ้ำที่สี่ชื่อว่านิปันนปฏิมาคูหา (Nipannapatimaguha) ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางปรินิพพาน มีความยาว 12.19 เมตร พระหัตถ์ขวาซ้อนพระเศียรมีหมอนหน้าสิงห์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดตามพระสุคตวรกายส่วนพระบาททั้งสองซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อย เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่าพระหัตถ์และพระบาทท้องสองข้างเป็นรูปดอกบัวแทนที่จะเป็นสัญลักษณ์มงคล 108 ประการตามตำรามหาปุริสลักษณะโบราณ นักปราชญ์หลายท่านต่างมีความคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันว่าพระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นปางไสยาสน์หรือปางปรินิพพาน ชาวพุทธศรีลังกาแนะนำว่าหากต้องการทราบว่าพระพุทธปฏิมาเป็นปางปรินิพพานหรือไม่ เพียงเริ่มต้นเดินสวดมนต์ตั้งแต่พระบาทขึ้นไป หากถึงกึ่งกลางพระเศียรเมื่ใด พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานตามสามัญวิสัยเมื่อนั้น ความงดงามของพระพุทธปฏิมาองค์นี้อยู่ที่ความประณีตของริ้วพระสุคตจีวรเหมาะสมตรงตามตำแหน่งอย่างลงตัวไร้ที่ติ 
หลังจากอาณาจักรโปโฬนนารุวะล่มสลาย กัลวิหารก็ถูกทิ้งร้างปกคลุมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์เป็นป่าทึบมานานหลายศตวรรษ จวบจนมีการค้นพบและบูรณะขึ้นมาใหม่สมัยอาณานิคมอังกฤษโดยเบลล์ (H.C.P. Bell) เมื่อพ.ศ.2450 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความเป็นอมตะของงานศิลป์วัดกัลวิหารก็ปรากฏต่อสายตาชาวโลกกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ หากวิเคราะห์โดยภาพรวมจะเห็นว่า สถาปนิกผู้สรรค์สร้างพระพุทธปฏิมาเหล่านี้ต้องการผสมผสานคติความเชื่อแบบเถรวาทดั้งเดิมให้กลมกลืนสอดคล้องกับคำสอนมหายานและลัทธิฮินดู หากมองเชิงสังคมจะทราบว่าแม้พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคโปโฬนนารุวะ แต่คติความเชื่อของมหายานและลัทธิฮินดูก็ยังทรงอิทธิพลอยู่ในหมู่ชาวพุทธทั่วไป ดังนั้น กุศโลบายในการสร้างพระพุทธปฏิมาแทนที่จะละทิ้งของเก่า ศิลปินกลับเลือกใช้วิธีประนีประนอม โดยยกสถานภาพของพระพุทธเจ้าให้สูงส่งเหนือเทพเจ้าทั้งปวง ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เด่นของศรีลังกาที่ยังรักษาสืบทอดเรื่อยมาจนถึงกาลปรัตยุบัน
คัดลอกข้อความบางตอนมาจากหนังสือ ของดีศรีลังกา ของ ลังกากุมาร หน้า 208


เสร็จทริปแล้วตาสองโชเฟอร์พาพวกเราไปที่ร้าน และโรงงานแกะสลักเครื่องไม้ เพื่อหวังได้ค่าคอมมิชชั่น งานก็สวยดีครับใหญ่ๆก็มีเล็กก็มี แต่พวกเราไม่ได้ซื้ออะไร ได้แต่เดินดูรอบๆ ดูช่างกำลังแกะสลักไม้อยู่


แอบถ่ายข้างนอกมาได้นิดหนึ่ง เพราะข้างในที่สวยๆเขาติดป้ายห้ามถ่ายรูป


เห็นพวกเราไม่ซื้ออะไร สองโชเฟอร์ตุ๊กๆก็พาเรากลับครับ (ด้วยความผิดหวังที่ไม่ได้ค่าคอมแน่ๆ) ผมบอกให้พาไปกดเงินก่อนครับ เพื่อจะจ่ายค่าทัวร์เพราะเงินรูปีเริ่มหมดแล้ว กดมากสุดได้ครั้งละ 20,000 รูปีนะครับ ประมาณ 5,000 บาท แต่จะโดนชาร์จค่ากดเงินระหว่างประเทศด้วยประมาณ 150 บาทต่อครั้งครับ เพราะฉะนั้นถ้าจะกดก็กดให้ได้มากที่สุดละกัน ถ้าเหลือค่อยแลกดอลล่าร์คืนที่สนามบินก่อนกลับบ้านก็ได้ครับ (ของผมเหลือกลับมาเกือบหมื่น ขี้เกียจแลกคืน เพราะตั้งใจว่าเร็วๆนี้จะกลับไปเยือนศรีลังกาอีกครับผม) 

โชเฟอร์ส่งโรงแรมแล้ว พวกเราก็จ่ายค่าทริปตามที่ตกลงกันเอาไว้แล้วครับคือ 2,600 รูปี ผมก็ให้ทิปเงินไทยไปอีก 100 เขาก็ดีใจใหญ่เลยครับ พวกเราก็นัดสองโชเฟอร์ให้มารับเราพรุ่งนี้ไปท่ารถบัสครับ เพราะพรุ่งนี้เราจะไปนอนที่สิกิริยาแล้วครับ 
ตอนค่ำคุณ ณิชานติ เจ้าของโฮมสเตย์ที่เราไปพักก็กลับมาจากทำงาน เธอน่ารักมากครับ อัธยาศัยดีเป็นกันเองมากๆครับ ทำให้พวกเรารู้สึกอบอุ่นเป็นอย่างมาก เธอถามว่าพวกเราจะกินอะไร เราเสนอข้าวผัดไก่ เพราะมีให้เลือกข้าวผัดไก่กับข้าวแกงแบบศรีลังกา กลัวสมาชิกกินไม่ได้กันเลยสั่งข้าวผัดไก่มากิน แต่ข้าวผัดคุณ ณิชานติผมว่าสู้ที่โรงแรมพาโนรามาเรสโฮเต็ลที่อนุราธปุระไม่ได้ครับ เพราะเธอใช้น้ำมันมะพร้าว กลิ่นมันเลยแปลกๆสำหรับพวกเราครับ แต่ขนาดไม่อร่ยมากนะเนี่ยยังฟาดซะเกลี้ยงครับ จริงๆ เธอตั้งใจทำมาให้เราก็ซึ้งในน้ำใจแล้วครับ (ค่าอาหารเธอก็คิดไม่แพงนะครับ) 


ระหว่างที่กินคุณณิชานติก็มาคุยด้วยกับเรา พวกเราเลยขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ครับ แถมเอาเหรียญศรีลังกาที่เขาเลิกใช้ไปแล้วมาให้เราเป็นที่ระลึกด้วยครับ ผมเลยให้เหรียญไทยที่มีทุกชนิดในกระเป๋าผมไปซะเกลี้ยงเลยเหมือนกัน เธอก็ดีใจใหญ่เลยครับ 


ที่โฮมสเตย์บ้านคุณณิชานติต้องเปิดเครื่อง Wifi เอาเองนะครับ เพราะถ้าไม่ได้ใช้งานเธอจะปิดมัน หรือบอกให้เธอเปิดให้ก็ได้ครับ ฟรี ไม่คิดตังค์ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันเข้านอนครับ 

อ่านบทความถัดไป วันที่ 4 เดินทางจากโพลอนนารูวา ไปสิกิริยา ชมพระราชวังลอยฟ้าเมืองสิกิริยา
อ่านบทความก่อนหน้า วันที่ 2 เที่ยวสถานที่ต่างๆในเมืองอนุราธปุระ และเมืองมิหินตะเล

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณอดิศักดิ์เขียนเล่าได้ละเอียดมากเลย กำลังจะย้อนความหลังโปโลนนารุวะ ที่ไปมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พศ.2549 มาเจอรีวิวนี้ สุดยอดค่ะ คงต้องขออนุญาตินำข้อมูลไปอ้างอิงบ้างค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณครับ แต่ข้อมูลเชิงลึกผมก็ลอกมาจากหนังสือของดีศรีลังกานะครับ หาอ่านได้จากเล่มนั้นได้เลยครับ

    ตอบลบ